!-- AdAsia Headcode -->

'ทางม้าลาย' รถต้องหยุด หรือคนต้องรอ

14 สิงหาคม 2562, 14:02น.


     ทางม้าลายในประเทศไทยยังใช้ได้อยู่หรือไม่? ผู้ปกครองที่กำลังมีบุตรหลานวัยอนุบาล หรือวัยประถมศึกษา กล้าหรือไม่ที่จะให้บุตรหลานข้ามทางม้าลายด้วยตัวเอง

     เมื่อก้าวเท้าแตะพื้นถนนตรงทางม้าลายเพื่อกำลังจะข้ามไปอีกฝั่งนั้น รถหยุดให้เราหรือเราต้องหยุดให้ บ่อยครั้งที่เกือบจะเอาหน้าเราเองไปซบบนพื้นถนน เพราะคิดว่าทางม้าลายนั้นปลอดภัย ไม่เพียงแต่พื้นที่ในเขตเมืองเท่านั้น แม้กระทั่งถนนในชุมชนเองก็มีความเสี่ยงของทางม้าลาย



     จากข้อมูลจากงานสัมนาระดับชาติครั้งที่ 14 ในห้อง Ambulance Safety VS Share Responsibility ได้มีการแบ่งปันข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายหน่วยงาน แต่ละจังหวัดมาร่วมเล่าปัญหาและการแก้ไข อย่างเช่น พื้นที่เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม ทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนอนุบาลสมุทรสงคราม เป็นถนนที่มุ่งสู่แหล่งท่องเที่ยว จึงมีปริมาณรถเยอะในแต่ละวัน โดยพื้นที่มีทั้งวัด โรงเรียน 2 แห่ง อีกทั้งรวมเด็กทั้งสิ้น 2,000 กว่าคน และส่วนใหญ่เด็กใช้ทางม้าลายในการข้ามถนน โดยพฤติกรรมของผู้ใช้รถมักจะจอดทับทางม้าลาย เวลามีเด็กข้ามถนนจะไม่สนใจแม้ว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่ก็ตาม ปัญหาเหลานี้เป็นหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ ผู้ปกครองและเด็กจึงเกิดความคิดในทางลบ และคิดว่าทางม้าลายไม่ปลอดภัยเวลาข้ามถนนเด็กๆต้องวิ่งข้าม เกิดเป็นวิถีปลูกฝั่ง ว่าการข้ามทางม้าลายต้องให้รถเป็นหลัก และกู้ภัยต้องไปเก็บเด็กนักเรียนบ่อยครั้ง วิถีการข้ามถนนและการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทยหลายพื้นที่ยังเป็นเช่นนี้ ยิ่งในเขตตัวเมืองหรือบนถนนสายหลัก ที่มีทั้งรถบรรทุก รวมถึงรถที่สัญจรมาจากหลากหลายจังหวัด มักจะขับเร็วแม้มีป้ายเตือนความเร็วก็ตาม



     การแก้ไขปัญหาทางม้าลายนี้ ปัจจุบันทางชุมชน โรงเรียน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน ได้เสนอการแก้ไขปัญหาปริมาณรถเยอะและการจราจร ทั้งขอให้มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกในเวลาเร่งด่วน ผลักดันเรื่องขอไฟกดสัญญาณข้ามทางม้าลาย รวมถึงขยับทางม้าลายไม่ให้ตรงกับบริเวณที่รถสวนมา และการพูดคุยกันในพื้นที่ระดับชุมชน อำเภอ และจังหวัด เรื่องอบรมการใช้รถใช้ถนนในผู้ขับขี่และคนเดินเท้า เพื่อเป็นการปลูกฝั่งและเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว



     ในขณะที่จังหวัดชัยภูมิที่ถนนทางหลวงหมายเลข 201 (แก้งคร้อ-ภูเขียว) ก่อนหน้านี้ได้ขยายถนนเป็น 8 เลน และมีทางคู่ขนานที่เป็นเลนสวน คนที่ข้ามถนนสามารถข้ามตรงไหนก็ได้ เนื่องจากไม่มีทางม้าลาย โดยเฉพาะเด็กจุดบริเวณหน้าโรงเรียน ที่นักเรียนใช้ข้ามกัน จากเมื่อก่อนข้าม 4 เลน พฤติกรรมการข้ามถนนจึงเปลี่ยนไป

      ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน เป็นฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย รถขนอ้อยจะเยอะและสามารถวิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ จึงเกิดปัญหาเด็กขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถบรรทุกบ่อยครั้ง รวมถึงปัญหาไม่มีป้ายสัญญาณเตือน ในเบื้องต้นทางโรงเรียนในพื้นที่แก้ปัญหาโดยการจัดหารถปิคอัพสภาพที่พอใช้งานได้มารับส่งนักเรียน แต่ผู้ปกครองบางคนมองว่าแออัดเกินไป เลยขับรถจักรยานยนต์มาส่งเอง ทำให้เด็กนักเรียนต้องวิ่งข้ามถนนเหมือนเดิม ในขณะนี้อยู่ในระหว่างประชุมผู้ปกครองกับทางโรงเรียน พร้อมเสนอให้ใช้รถรับส่งนักเรียนที่เป็นรถตู้ และร่วมกันเสนอขอสะพานข้าม และป้ายสัญญาณเตือนต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง



     ด้านจังหวัดกาฬสินธุ์ก็ไม่แพ้กัน เกี่ยวกับเรื่องทางม้าลายในอำเภอท่าคันโท ถนนในเขตชุมชนที่แทบจะเรียกว่าซอย ซึ่งเป็นถนนสายหลักการขนส่งอ้อยและมันสำปะหลังตลอดทั้งปี ทั้งสองข้างถนนจึงเต็มไปด้วยรถบรรทุกน้อยใหญ่ต่อแถวยาวหลายกิโลเมตร ในแต่ละสัปดาห์จะมีอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถบรรทุกบริเวณจุดเดิมซ้ำๆ ทางสมาคมกู้ภัยเมตตาธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับ เทศบาลท่าคันโท เจ้าหน้าตำรวจและผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่ได้มีการประชุมหาทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุเรื่องของการชนท้ายรถอ้อย แต่เมื่อเก็บข้อมูลยิ่งพบว่าปัญหาไม่เพียงแค่รถจักรยานยนต์เท่านั้น ยังพบว่าอุบัติเหตุจากคนข้ามถนนมีเยอะไม่แพ้กัน เนื่องด้วยพื้นที่นั้นมีโรงเรียนอนุบาลและมัธยม ตลาดสดใหญ่ 2 ตลาด และชุมชนใหญ่อีก 1 ชุมชน โดยปัญหาการข้ามถนนที่ไม่ปลอดภัย จากสาเหตุที่ไม่มีป้ายเตือนความเร็ว ป้ายสัญลักษณ์เขตโรงเรียน และที่สำคัญเส้นของทางม้าลายที่เลือนรางแทบจะมองไม่เห็น หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะนำเสนอปัญหาเหล่านี้ต่อที่ภาครัฐเพื่อแก้ไขต่อไป



     นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากบางพื้นที่เท่านั้น สำหรับบ้านเราเอง ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับทางม้าลายด้วยเช่นกัน กำหนดไว้ที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 กำหนดไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในหรือทำให้ปรากฏในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ทราบสัญญาณจราจรเครื่องหมายจราจรและความหมายของสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจร

     ส่วนโทษการฝ่าฝืนดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท อีกเรื่องหนึ่ง หากผู้ขับขี่ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย หรือในระยะ 3 เมตร ผิดกฎหมายตามมาตร 57 ลงโทษปรับไม่เกิน 500 บาท แม้ว่าโทษปรับจะไม่มาก แต่เราก็ควรจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วยการหยุดจอดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายไปก่อนก็จะเป็นการแสดงน้ำใจบนท้องถนนที่ดีทีเดียว



 



Cr.ข้อมูลและภาพจากเว็บไซต์ : logahead.com , youtube : Thailand Now , Wigrom Suadee

X