!-- AdAsia Headcode -->

เข้าหน้าฝน อาจเจองูหลบซ่อนในบ้าน กรมอนามัยแนะจัดบ้านให้สะอาด โล่ง และเป็นระเบียบ เพื่อความปลอดภัย

16 พฤษภาคม 2562, 11:32น.


     การดูแลสิ่งแวดล้อมในบ้าน และที่พักอาศัยเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถกำจัดทั้งแหล่งอาหารของงู ที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะทำอันตรายให้กับคนในครอบครัวได้

     นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนอากาศร้อนชื้นเหมาะแก่การอยู่อาศัยของงู ซึ่งมักอยู่อาศัยในบริเวณที่ชื้นแฉะและแฝงตัวในพื้นที่รก ตามต้นไม้ รวมถึงในบ้านที่ไม่มีการจัดระเบียบให้เรียบร้อย โดยเฉพาะบ้านที่มีพงหญ้าสูงรกมีสวน ป่า ในบริเวณบ้าน และในน้ำ จะพบได้ทั้งงูไม่มีพิษ เช่น งูเหลือม งูหลาม ส่วนงูมีพิษ ที่คนถูกกัดเป็นประจำ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ซึ่งแหล่งที่หลบซ่อนของงู อาทิ ถังกดน้ำชักโครก รูท่อในห้องน้ำ ขอบฝาถังเครื่องซักผ้า รองเท้า ตู้เก็บรองเท้า



     5 ข้อควรปฏิบัติดังนี้

     1) ทำลายแหล่งอาหารของงู โดยเฉพาะหนู ด้วยการควบคุมป้องกันและกำจัดหนูไม่ให้เข้ามาในบ้าน เก็บกวาดเศษอาหารไม่ให้ตกค้างในบ้านและท่อน้ำทิ้ง ทิ้งขยะลงถัง ที่แข็งแรง ไม่รั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด เก็บอาหารในตู้เก็บอาหาร หรือใช้ฝาครอบปิดมิดชิด ใช้กรงดัก กับดัก กาวดักหนู หากใช้สารเคมีกำจัดหนู ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเลี้ยงแมวหรือสุนัข ซึ่งจะช่วยกำจัดหนู รวมถึงช่วยไล่งูได้ด้วย

     2) ปิดช่องทางเข้าออกของหนูและงู ด้วยลวดตาข่าย แผ่นโลหะ หรือวัสดุที่ป้องกันการกัดแทะของหนูได้

     3) หากเลี้ยงไก่ นก ต้องทำกรงหรือคอกที่มิดชิด ปิดกั้นรูหรือช่องที่งูจะเข้าไปได้

     4) ไม่ควรเก็บวัสดุอุปกรณ์รกรุงรังที่อาจเป็นที่หลบซ่อนของงู หากมีหลุมหรือโพรงควรกลบให้เรียบร้อย และหมั่นตัดกิ่งไม้ที่พาดใกล้กับชายคาบ้าน รั้ว หรือกำแพง

     5) ตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่ว รอยแตก เพราะงูอาจจะเลื้อยเข้าไปตามท่อระบายน้ำ เข้าไปในบ่อเกรอะและเลื้อยเข้าท่อที่เชื่อมกับคอห่าน ซึ่งจะทำอันตรายต่อคนขณะใช้ส้วมโดยให้ช่างติดตั้งตะแกรงกันงูตามท่อน้ำทิ้ง และปิดประตูห้องส้วม เพื่อป้องกันงูเลื้อยเข้าไป



     ทั้งนี้ ประชาชนต้องดูแลและป้องกันตนเองจากการโดนงูกัด โดยสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าบูท กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว พกไฟฉายและไม้ หากจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณที่มีพงหญ้ารก ในที่มืดหรือที่แคบ หากเจองูให้อยู่นิ่ง ๆ แล้วค่อย ๆ ถอยออกมา เพราะงูจะพุ่งฉกและกัดเหยื่อที่เคลื่อนไหว วิธีการสังเกตงูว่าพิษหรือไม่คือ หากเป็นงูหัวกลมมน จะเป็นงูไม่มีพิษ แต่ถ้าเป็นงูหัวสามเหลี่ยมจะเป็นงูมีพิษ



     อย่างไรก็ตาม งูเหลือม งูหลาม ซึ่งเป็นงูไม่มีพิษ แต่สามารถ ทำอันตรายด้วยกันรัดเหยื่อได้ จึงไม่แนะนำให้จับงูเอง ให้โทรแจ้งหน่วยกู้ภัยท้องถิ่นเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจับงูไป และหากผู้ถูกงูกัดควรรีบพาไปโรงพยาบาลที่มีเซรุ่มแก้พิษงู ใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด อาทิ โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอที่มีเซรุ่มแก้พิษงู



     เซรุ่มแก้พิษงูจงอาง(King Cobra antivenin) ทำลายพิษงูจงอาง(Ophiophagus hannah) ได้ไม่น้อยกว่า 0.8 mg./ml



     เซรุ่มแก้พิษงูเห่า (Cobra antivenin) ทำลายพิษงูเห่า (Naja kaouthia) ได้ไม่น้อยกว่า 0.6 mg./ml



     การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด

     1. ไม่ต้องตกใจ งูที่กัดอาจไม่ใช่งูพิษ ให้ดูที่แผลที่ถูกกัด แผลงูพิษกัดจะมีลักษณะเหมือน เข็มตำ ขณะที่แผลจากงูไม่มีพิษจะเป็นรอยฟัน นอกจากนี้งูพิษกัดบางครั้งจะกัดแต่ไม่ ปล่อยพิษ

     2. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัด

     3. ให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

     4. ล้างบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด

     5. ห้ามกรีดหรือดูด บริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรใช้สมุนไพรพอก เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ

     6. ไม่ควรชันชะเนาะ หากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี

     7. ถ้าผู้ถูกกัดหยุดหายใจ ให้เป่าปากผายปอดเพื่อช่วยชีวิต



                             Cr.ข้อมูลและภาพจาก เว็บไซต์ : Saovabha ,anamai.moph.go.th  เฟซบุ๊ค : Nick Wildlife



 



 

X