!-- AdAsia Headcode -->

'กองทุนเลขสวย' ทุ่ม 69 ล้าน! สั่งตรวจเมาคนขับทั้ง 2 ฝ่าย กรณีอุบัติเหตุที่มีคนเจ็บ-คนตาย ทรัพย์สินเสียหาย #สงกรานต์62

05 เมษายน 2562, 12:37น.


     โครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” เครือข่ายความร่วมมือหลายหน่วยงาน อาทิ กรมควบคุมโรค กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคปภ. มูลนิธิเมาไม่ขับ สสส. ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเกรงกลัวต่อกฎหมาย มุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแนวคิดของคนไทย "หากจะขับต้องไม่ดื่ม แต่ถ้าดื่มแล้วก็ต้องห้ามขับ" โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ เมื่อปีที่ผ่านมาจากข้อมูล 3 ฐาน มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 20,169 คน สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนประการหนึ่ง คือ เมาแล้วขับ




     นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้จึงกำหนดให้อุบัติเหตุจราจรทุกกรณีที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือมีทรัพย์สินเสียหาย ผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องถูกตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ หากผู้ขับขี่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ แต่ถ้าผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ ให้ส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ  ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก จำนวนกว่า 69 ล้านบาท




     จากสถิติการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งมาเบิกกับกรมควบคุมโรค ตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 - 31 มีนาคม 2562 มีผลการตรวจแอลกอฮอล์ 1,873 ตัวอย่าง พบว่าผู้บาดเจ็บมีแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า 62% ของผู้บาดเจ็บที่ส่งตรวจทั้งหมด และเกินกว่ากฎหมายกำหนด 58% ในกลุ่มที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดมีผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงตั้งแต่ 100 mg% ขึ้นไป มากถึง 90%ของกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด และมีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 150 mg% ขึ้นไป 41% ซึ่งจากข้อมูลยังสะท้อนให้ทราบว่า ในผู้ขับขี่ที่ตรวจพบแอลกอฮอล์จะมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 94% ของผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดทั้งหมด




     นายกมล  บูรณพงศ์  รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในภารกิจการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้ขับรถที่ประสบอุบัติเหตุและไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน ถ้าไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบริหารโครงการ จะสามารถตรวจพิสูจน์ผู้ขับรถที่ประสบอุบัติเหตุได้เป็นจำนวน 73,000 คน ครอบคลุมการปฏิบัติงานทั่วประเทศในช่วงระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ไปสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากขึ้น ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงตามไปด้วย


X