!-- AdAsia Headcode -->

พ่อแม่ต้องอ่าน! เตรียมรับมือลูก ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

08 มกราคม 2562, 14:46น.


        ทุกๆวันเสาร์สัปดาห์ที่สองในเดือนมกราคมของทุกปีถือเป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งปีพุทธศักราช 2562 ตรงกับวันเสาร์ที่ 12 มกราคม โดยมีการถือกำเนิดวันเด็กขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็กรวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ ทั้งนี้หากเด็กๆมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ตามวัย ในอนาคตก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป



        พญ.นิภาพรรณ จรดล กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ในช่วงวัยเด็กอาจมีบางภาวะที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูกๆ และเตรียมรับมือ คือ ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ซึ่งเป็นภาวะที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไปสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยอันควรซึ่งพบได้ทั้งในเด็กหญิงและเด็กชาย โดยสาเหตุพบว่าเกิดจากมีการพัฒนาของระบบควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยซึ่งส่วนมากในเด็กหญิงเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแต่จะตรวจพบฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากกว่าปกติ ในเด็กชายมักตรวจพบว่ามีพยาธิสภาพในสมองซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองออกมาก่อนวัยอันควร อีกหนึ่งสาเหตุคือการมีฮอร์โมนเพศเกินโดยอาจเกิดจากได้รับฮอร์โมนจากภายนอก เช่น จากยารับประทาน หรือยาทาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ หรือมีการสร้างฮอร์โมนเพศขึ้นมาเองในร่างกายนอกเหนือระบบควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เช่น เนื้องอกของรังไข่หรืออัณฑะ หรือภาวะที่มีความผิดปกติของต่อมหมวกไต เป็นต้น



        คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะร่างกายของลูกโดยเด็กหญิงจะมีหน้าอก กลิ่นตัว ขนหัวหน่าว มีการเพิ่มขึ้นของความสูงอย่างรวดเร็วก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง และในเด็กชายจะมีขนาดอัณฑะหรืออวัยวะเพศโตขึ้น มีกลิ่นตัว ขนหัวหน่าว เสียงแตก ก่อนอายุ 9 ปี หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบความเปลี่ยนแปลงของลูกควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมิน โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจประเมินเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น เอกซเรย์อายุกระดูก ตรวจการสร้างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและฮอร์โมนเพศ อัลตร้าซาวน์มดลูกและรังไข่ รวมถึงตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองในรายที่มีข้อบ่งชี้ เป็นต้น เนื่องจากภาวะการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยมีผลทางด้านร่างกายและจิตใจโดยผลกระทบทางร่างกาย ได้แก่ ผลต่อการเจริญเติบโต คือ ในระยะแรกจะสูงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน แต่อาจจะมีภาวะตัวเตี้ยตามมาในวัยผู้ใหญ่เนื่องจากการที่มีฮอร์โมนเพศก่อนวัยจะทำให้มีการพัฒนาของอายุกระดูกเร็วกว่าวัยจึงทำให้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตสั้นกว่าปกติ 



        นอกจากนี้เด็กที่เริ่มเป็นสาวก่อนวัยจะมีแนวโน้มที่จะมีประจำเดือนเร็วจึงอาจส่งผลต่อการดูแลตนเองในวัยเด็ก ส่วนผลกระทบทางจิตใจ จากภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติจะทำให้เด็กรู้สึกแตกต่างจากเพื่อนซึ่งอาจจะส่งผลต่อความมั่นใจในตนเอง และอาจเกิดปัญหาจากการถูกล้อเลียน รวมถึงการถูกล่อลวงต่างๆเนื่องจากพัฒนาการทางร่างกาและจิตใจไม่สอดคล้องกัน  ซึ่งภาวะนี้สามารถรักษาและป้องกันได้โดยการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น การหยุดยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ การผ่าตัดเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนเพศ เป็นต้น และการรักษาโดยการฉีดยาชะลอการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวโดยฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อหรือไขมันทุก 1 หรือ 3 เดือน เพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะทำให้เกิดการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชั่วคราว และชะลอการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวรวมถึงอายุกระดูกในขณะที่รักษา อย่างไรก็ตามเมื่อหยุดการรักษาผู้ป่วยจะสามารถเข้าสู่วัยหนุ่มสาวได้ตามปกติ



        "พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตลักษณะร่างกายของเด็กว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าวัยหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจเหมาะสมตามวัย รวมทั้งสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพทางพันธุกรรม" พญ.นิภาพรรณ กล่าว

        ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพระรามเก้า

        ภาพจาก : The Independent , blockablock , mnn.com



 

X