!-- AdAsia Headcode -->

แพทย์ชี้!!! ผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรคแทรกซ้อน

13 กรกฎาคม 2561, 20:00น.


      ในช่วงฤดูฝนแบบนี้สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือ บรรดาโรคต่าง ๆ ที่มากับฝนไม่ว่าโรคมือเท้าปาก โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ไปไกล ซึ่งนอกจากเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เจ็บป่วยได้ง่ายแล้ว ผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยแพทย์ได้เล็งเห็นและชี้แนะให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือผู้สูงอายุควรไปฉีดวัควีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ใครบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน?  แล้วจะสามารถรับบริการนี้ได้ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร? เรามีคำตอบค่ะ

สาเหตุของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่

      นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคพบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ แต่ระบาดมากในฤดูฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิต้านทานน้อยอาจมีอาการแทรกซ้อน บางรายถึงขั้นเสียชีวิต การติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แพร่กระจายไปยังบุคคล บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของโรคและอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรงที่จะเกิดตามมา





ใครบ้างที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน

       นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ได้แนะนำให้ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยมีทั้งหมด 7 กลุ่ม ดังนี้

1. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

2. หญิงที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

3. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี

4. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หอบหืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ

7. ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม





แล้วโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการยังไงบ้าง ?

        นายแพทย์ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการป่วยมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ได้แก่ มีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลังต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบอาจทำให้หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ และเสียชีวิตได้





การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่

        สำหรับการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ แต่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับจะครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ รวม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิด A (H1N1) ชนิด A (H3N2) และชนิด B โดยมีผลในการป้องกันร้อยละ 60 - 70

สามารถรับบริการได้ที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร?

       สามารถรับบริการได้ทุกสิทธิการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน - 31 สิงหาคม 2561





จะดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการป่วย ?

1. นอนหลับพักผ่อนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี





2. ไม่ควรออกกำลังกาย 





3. ดื่มน้ำเกลือแร่หรือ น้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็น





4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้





5. หากมีไข้ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ถ้าไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์





      การดูแลสุขภาพโดยเฉพาะผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราทุกคนควรต้องสนใจ ใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะไม่มีใครยืนยงอยู่ได้โดยไม่เจ็บป่วย ดังนั้นเรามาช่วยกันเป็นหูเป็นตา หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของพวกท่านให้มาก ๆ เพื่อให้พวกท่านได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัวต่อไปนะคะ



ที่มา : กรมการแพทย์

รูปภาพ : กรมการแพทย์, food.ndtv.com, knorr.com, list25.com, tapinto.net



 

X