!-- AdAsia Headcode -->

ตร.เร่งแก้กฎหมายความเร็วรถให้เหมาะสมกับปัจจุบัน ด้านนักวิชาการแนะ ยิ่งขับเร็วมากยิ่งเสี่ยงอันตราย !

08 พฤษภาคม 2561, 20:30น.


        ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เผย สถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 - 17 เม.ย. 2561ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรวม 3,724 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 418 คน ผู้บาดเจ็บ 3,897 คนโดยสาเหตุหลักอันดับแรกยังเป็นการดื่มสุราแล้วขับ รองลงมาคือการขับรถเร็วเกินกำหนดซึ่งในช่วงปกติหรือนอกเทศกาลการขับรถเร็วเกินกำหนดถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และทำให้ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก คือ 22,356 คน ใน พ.ศ.2559 เฉลี่ย 62 คน ต่อวัน แต่เมื่อไม่นานนี้ได้มีข่าวการปรับแก้กฎหมายเพิ่มขีดจำกัดความเร็วรถใหม่ ซึ่งฟังแล้วอาจขัดต่อข้อมูลหรือความรู้สึกที่ควรจำกัดความเร็วให้ลดลงเพื่อลดอุบัติเหตุ 

        พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผบก.ส.3ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าการปรับแก้กฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2524) ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วในเขตกรุงเทพฯ เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล ได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. และนอกเขตดังกล่าวใช้ได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. นั้น มีการใช้มากกว่า 37 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันสภาพถนนและสภาพรถยนต์ได้เปลี่ยนไปมาก จึงทำให้กฎหมายไม่ได้รับการยอมรับและมีการฝ่าฝืนค่อนข้างมาก สาเหตุมาจากการกำหนดความเร็วจากพื้นที่ ไม่ได้มาจากการกำหนดจากสภาพถนน เช่น ทางด่วนในกรุงเทพฯ กำหนดความเร็วไว้ไม่เกิน 80 กม/ชม. แต่สภาพการจราจรในแต่ละช่วงมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถบังคับใช้ความเร็วที่ 80 กม/ชม. ตลอดเวลาได้ ดังนั้นต่อให้มีการเพิ่มมาตรการทางกฎหมายก็ไม่ได้รับการยอมรับทั้งนี้ในระบบการจราจรจะมีการแบ่งประเภทของการกำหนดค่าขีดจำกัดความเร็วไว้ 2 แบบ คือ Default limits ที่กำหนดความเร็วไว้อย่างตายตัวกับทุกประเภทถนน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่อนาคตจะต้องปรับเป็น Sign speed limit ที่มีการกำหนดค่าความเร็วตามสภาพถนน สภาพการจราจร ตามหลักวิศวกรรมฉะนั้นถนนสายหนึ่งอาจมีหลายช่วงระยะความเร็วได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการใช้รถใช้ถนนของผู้คนในปัจจุบันโดยคำนึงถึงหลักความปลอดภัย



Cr. hometowninsurance



        “ทางหลวงระหว่างเมืองจะมีการปรับให้ใช้ความเร็วได้เพิ่มขึ้น แต่ในเขตชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาลจะต้องปรับให้ลดลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพถนน บางจุดอาจใช้ความเร็วได้ 110-100 บางจุดอาจลดลงมาเหลือ 90 60 หรือ 30 โดยกำหนดจากเครื่องหมายจราจร และจะมีอุปกรณ์ตรวจจับความเร็วควบคุมอย่างเข้มงวด ส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่เกิด ไม่ได้เกิดกับผู้ที่ใช้ความเร็ว 100 กม./ชม. แต่เกิดกับผู้ที่ใช้ความเร็ว 140-150 กม./ชม. ขึ้นไป ฉะนั้นจึงต้องแยกคนที่ขับรถเร็ว กับเร็วมาก ๆ ออกจากกัน ถ้าเป็นแบบนี้พลเมืองยอมรับได้ เพราะปกติก็ขับประมาณ 100-110 กันทั้งประเทศ โดยขณะนี้กำลังมีการปรับแก้กฎหมาย มีการพูดคุยกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และหลายหน่วยงานก็เห็นชอบว่าควรมีการปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และจะมีการขยายเพดานค่าปรับ นำมาตรการการตัดคะแนนความประพฤติมาใช้ เราต้องทำให้พลเมืองเคารพป้ายจราจรไม่ใช่เคารพตำรวจ”พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว



@Tum686213081



        ด้าน พล.ต.ต.พงษ์สันต์ คงตรีแก้ว นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยหากมีการปรับใช้ความเร็วได้ตามช่วงระยะถนน แต่กังวลว่าหากมีการแก้กฎหมายแล้วอาจยิ่งเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เนื่องจากความไม่พร้อมด้านการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะเครื่องมือตรวจจับความเร็วที่ปัจจุบันยังมีน้อย และแทบไม่มีการฝึกอบรมการใช้งานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากจะเพิ่มการใช้ความเร็วก็จำเป็นต้องมีถนนที่ควบคุมอันตรายได้สูง มีป้ายแสดงเครื่องหมายจราจรที่ชัดเจน เช่น ถนนมอเตอร์เวย์ แต่ถ้าเป็นถนนทั่วไปที่มีจุดตัด ทางแยก ก็ควรตั้งขีดจำกัดไว้ที่ 90 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่ยอมรับได้ และอยากให้ลดความเร็วในเขตเมือง เขตชุมชน ลงเหลือ 50 กม./ชม. เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้มองว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเสนอให้ปรับแก้กฎหมายความเร็วรถเป็นเพราะเห็นพ้องกับประชาชนที่มองว่าอัตราความเร็วที่กำหนดอยู่ทุกวันนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน เป็นการแก้กฎหมายให้เข้ากับพฤติกรรมคนขับ ซึ่งสวนทางกับต่างประเทศที่ต้องการลดการใช้ความเร็วลง เพราะยิ่งขับเร็วมากยิ่งหยุดรถไม่ทัน และประชาชนก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียมากขึ้นตามลำดับ



ชญานนท์ กลั่นงาม



 

X