!-- AdAsia Headcode -->

พาชมห้องควบคุมระบบ GPS รถโดยสาร บขส. (คลิป)

13 เมษายน 2561, 13:50น.


      หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า "รถโดยสาร บขส." หรือรถทัวร์ที่วิ่งเส้นทางต่างจังหวัดนั้น ติดตั้งระบบ GPS กันทุกคัน เพื่อทำให้ศูนย์ฯสามารถกำกับดูแลพฤติกรรมการขับรถของคนขับ และสามารถควบคุมความเร็วให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดได้ ทีมข่าว JS100 จะพาทุกท่านไปชมห้องควบคุมกัน





      JS100 จะพาทุกท่านไปชม "ห้องควบคุม GPS" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ควบคุม ตั้งอยู่ที่สำนักงาน บริษัท ขนส่ง จำกัด ชั้น 2 ของอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ขนส่ง หมอชิต)





      ภายในห้องออกแบบเป็นลักษณะห้องมอนิเตอร์หน้าจอ





      แต่ละจอแบ่งตามภาค เหนือ ใต้ ออก ตก





      สามารถดูได้ว่า รถแต่ละคันอยู่ที่ใดบ้าง ทั้งที่จอดอยู่ตามท่ารถ และที่วิ่งอยู่ตามท้องถนน





      หากคันใดวิ่งเร็วเกิน 80 กม./ชม. จะมีเสียงเตือนที่คนขับ ขณะเดียวกันก็จะมีเสียงเตือนและแสดงขึ้นหน้าจอในศูนย์ฯทันที แต่หากวิ่งความเร็ว 81-89 กม./ชม. นานต่อเนื่องเกิน 10 นาที เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ไปตักเตือนที่ผู้ช่วยคนขับ ให้บอกกล่าวกัน

     หากวิ่งความเร็วเกิน 90 กม./ชม. ขึ้นไป นานต่อเนื่องเกิน 2 นาที เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ไปตักเตือนที่ผู้ช่วยคนขับ ให้บอกกล่าวกัน

      สำหรับการขับรถเร็วเกิน 80 กม./ชม. อาจยังไม่ถือว่ามีความผิด เพราะพอจะอนุโลมได้ว่าเป็นการเร่งแซงบางจังหวะ แต่เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฯจะกดเข้าไปดูรายละเอียด ซึ่งสามารถทราบได้ว่า ในการขับรถครั้งนี้ มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่เท่าไร และความเร็ว ปัจจุบันขับอยู่เท่าไร





      นอกจากเรื่องการควบคุมความเร็วแล้ว ระบบ GPS ยังสามารถเก็บข้อมูลการขับขี่เพิ่มเติมได้อีก เช่น พนักงานขับรถออกตัวกระชากหรือไม่ มีความนิ่มนวลในการขับรถหรือไม่





      ศูนย์ฯยังสามารถดูข้อมูลพนักงานขับรถขณะนั้น จากระบบ Smart Driver ที่ต้องใช้บัตรรูด Check In ก่อนขับรถ ซึ่งพนักงานขับรถ ต้องเปลี่ยนขับทุก 400 กม. มั่นใจได้ว่า แม้เป็นเส้นทางระยะไกลก็ไม่เหนื่อยล้า





      ดังนั้น หากมีผู้โดยสารแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน บขส. โทร. 1490 ก็สามารถมาตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ ว่ารถคันดังกล่าวมีพฤติกรรมการขับรถที่ผิดปกติหรือไม่ และผู้ใดเป็นพนักงานขับรถในขณะนั้น





       นับว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งระบบดังกล่าวใช้มาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปี เครื่องชี้วัดผลสำเร็จคือ ในช่วงการเดินทางเทศกาล อุบัติเหตุรุนแรงที่ต้นเหตุเกิดจากตัวรถโดยสาร ถือว่าน้อยมาก และบางปีไม่มีให้เห็นเลย



X