!-- AdAsia Headcode -->

รพ.กรุงเทพ เปิดตัว เก้าอี้บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า "แก้ปัสสาวะเล็ด-เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ"

16 มกราคม 2561, 19:27น.


  "ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เข้าห้องน้ำแทบไม่ทัน ไอ-จาม แล้วปัสสาวะเล็ดราด ปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกนำมาพูดถึงต่อหน้าสาธารณะกันมากนัก เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย หลายคนกังวลใจจนไม่อยากจะออกนอกบ้าน ทั้งที่จริงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลย" นพ.ดำรงค์พันธุ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว "เครื่องบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า" QRS PelviCenter (Magnetic Field Therapy) แห่งแรก ในโรงพยาบาลเอกชน ทางเลือกใหม่ในการบำบัดโดยการนำวิทยาศาสตร์มาช่วยรักษาอาการผิดปกติของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 







  โรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือภาษาชาวบ้านในอดีตเรียกกันว่า โรค”ช้ำรั่ว" มักพบในผู้หญิงหลังคลอดบุตร ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงและไม่กระชับเหมือนเดิม เช่นเดียวกับผู้ชายที่มีปัญหาเสื่อมสมมรรถภาพทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ลดแรงหลั่งอสุจิ หรือหลั่งอสุจิเร็วผิดปกติ ที่มักจะสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาตั้งแต่การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel Exercise” หรือ Pelvic Floor Muscle Exercise, PFME) ซึ่งเป็นวิธีที่สอนให้ผู้ป่วยต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 อาทิตย์ ถึง 3 เดือน วันละ 2-3 รอบ แต่ปัญหาที่สำคัญคือการบริหารที่ไม่ตรงจุด ไม่ถูกวิธี และแพทย์แนะนำได้ยาก เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านใน ทำให้ผู้ป่วยบางคนอาจต้องทานยา หรือผ่าตัดเสียเงินหลักแสนบาท

 




   ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ ได้ติดตั้งเครื่อง QRS-PelviCenter (Quantum Resonance Systems) เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมันนี มูลค่ากว่า 8 ล้านบาท ใช้หลักการของคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นกลุ่มกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งระบบ เพียงผู้ป่วยนั่งบนเก้าอี้ที่มีขดลวดสนามแม่เหล็กซ่อนอยู่ข้างใต้เบาะ กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะขยับตัวโดยอัตโนมัติ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยไม่รู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อ สามารถปรับระดับและความถี่ได้ ใช้เวลาครั้งละ 20 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เมื่อครบ 8-16 ครั้ง จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย สามารถควมคุมการปัสสาวะได้ตามปกติ ส่วนผลข้างเคียงบางคนอาจมีอาการปวดเมื่อยบริเวณสะโพก คล้ายการออกกำลังกายทั่วไป






  สำหรับการเข้ารับการบำบัด มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 7,500 บาท ผู้ป่วยสามารถจดจำความรู้สึกขณะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานอัตโนมัติ เพื่อไปใช้ฝึกบริหารด้วยตนเองควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการของโรคที่อาจร้ายแรงในอนาคตให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โทร.02-310-3009 หรือ Call Center โทร. 1719

X