!-- AdAsia Headcode -->

“จุดหลับใน 17 กิโลเมตร” เกิดอุบัติเหตุทุกเดือน! บนถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านอำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา

23 สิงหาคม 2559, 16:56น.


           ภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเสี่ยง บนถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านอำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา หรือช่วงกิโลเมตรที่ 224 – 242 (17กิโลเมตร) หลังเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง

            โดยถนนสายนี้เป็นถนนลาดยาง 4ช่องทางตลอดทาง มีร่องกลางถนน เส้นแบ่งช่องทางจราจรที่ชัดเจน ทั้งเส้นประ และเส้นสีเหลือง แต่ก็เป็นจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยครึ่งปี 2559 ที่ผ่านมา มีการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง! จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ถึง 3ครั้ง มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 8คน! โดยทีมกู้ชีพในพื้นที่ เปิดเผยว่าเส้นทางดังกล่าว จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อย่างน้อย 7 - 8 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่มักหลับใน ตกร่องกลางถนน!







            ตัวอย่างอุบัติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น : เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 รถกระบะข้ามเกาะกลางถนน ชนกับรถบรรทุก 6ล้อ ช่วงกม.241-242 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 6คน ซึ่งมีทั้งเด็ก, ผู้ใหญ่ (ที่มากับรถกระบะ) และบาดเจ็บ 1คน สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก 1.แรงกระแทกอย่างแรง 2.ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย







            การสอบสวน และตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มเติม

1. “คนขับรถกระบะ” นอนพักเพียงพอหรือไม่, ความง่วง, มีสิ่งใดตัดหน้ารถกะทันหัน, ความเร็ว

2. “คนนั่งข้างคนขับ” อุ้มเด็กไว้บนตัก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

3. “คนที่โดยสารเบาะหลัง” อุ้มเด็ก 5 เดือนไว้บนตัก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

4. ไม่พบร่องรอยการเบรกของรถกระบะ ที่พุ่งข้ามเลนมาชนรถบรรทุก

5. ระยะทางเกิดเหตุประมาณ 75เมตร ทำให้เห็นถึงความเร็วของรถ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า เร็วเท่าไหร่!?

6. รถกระบะเดินทางมาจาก จ.สกลนคร ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุ 330 กิโลเมตร เป็นไปได้ว่าอาจมีความเหนื่อยล้าจากการขับรถ

7. เส้นทางตรง 4 ช่องทางตลอดทาง อาจทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด

8. ปั๊มน้ำมัน เพื่อเป็นจุดพักรถมีระยะห่างกัน 60 กิโลเมตร









          ข้อเสนอแนะ โดยภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่



1. การบังคับใช้ Car seat สำหรับเด็กในกรณีที่ไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถได้ เพื่อป้องกันการกระแทก หรือขณะเกิดอุบัติเหตุ

2. ระยะทาง 17 กิโลเมตร เป็นถนนเส้นตรง 4 ช่องทาง มีร่องกลางถนน ราบเรียบ เพิ่งผ่านการปรับปรุง ระยะทางดังกล่าวเป็นข้อมูลให้เห็นว่า ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วรถได้อย่างต่อเนื่อง อาจต้องมีจุดตรวจ หรือกิจกรรมเพื่อให้ผู้ขับขี่ต้องชะลอความเร็ว และจะได้ตื่นตัวเมื่อเจอเจ้าหน้าที่

3. การติดตั้งราวกันอันตราย ป้องกันรถพุ่งข้ามเลน





            ท้ายที่สุดผู้ขับขี่ และผู้โดยสารทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบความเสี่ยง ที่สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น ผู้ขับขี่ง่วงหรือเพลีย ก็ควรหาที่จอดพักทั้งรถ และคน เพราะอุบัติเหตุ และความสูญเสียเกิดขึ้นได้ภายในเสี้ยววินาที....









ขอขอบคุณข้อมูลโดย

1. ดร.ศาสตราวุฒิ  พลบูรณ์   นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรีนารี

2. เจ้าหน้าที่มูลนิธิพุทธธรรม 31 จังหวัดนครราชสีมา

3. ทีมสหสาขาวิชาชีพอำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา



ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ 



สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถานีวิทยุ จส.100 ได้ทาง

        

สามารถดาวน์โหลด JS100 Application ได้ทั้งระบบ IOS และ Andriod ฟรี!!

   

X