เปิดเวทีครั้งที่ 2 ! กทพ.รับฟังความเห็น ยืนยัน โครงการทางเชื่อมต่อบูรพาวิถี-เลี่ยงเมืองชลบุรี แก้ปัญหาจราจร

15 กรกฎาคม 2563, 14:03น.


          ความคืบหน้าโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี แก้ปัญหาการจราจรเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้ ชลบุรี วันนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีการแนะนำโครงการพร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายไปแล้ว จนคัดเลือกแนวสายทางและทางขึ้น-ลงของโครงการ เสนอให้ประชาชนรับทราบด้วย



บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก



กลุ่มที่เห็นด้วยกับโครงการ มองว่า



-ทำให้การจราจรสะดวกขึ้นแน่นอนเนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับทางพิเศษ การจราจรด่านล่างไม่ติดขัด



-ประชาชนด่านล่างจะได้ค้าขายสะดวกมากขึ้น



-เสนอให้ทบทวนเรื่องค่าผ่านทาง หากถูกลงกว่าเดิมก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางได้มากขึ้น





กลุ่มที่เห็นต่างกับโครงการ มองว่า



-อยากให้ยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เอื้อประโยชน์ให้กับนิคมอุตสาหกรรมฯ เพียงแห่งเดียว



-ผิดวัตถุประสงค์ยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่หรือสนับสนุนชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีรายได้ ซึ่งหากมีทางด่วนยกระดับชุมชนใต้ทางด่วนจะถูกปิดช่องทางในการประกอบอาชีพ



-โครงการส่งผลกระทบด้านคุณภาพชีวิต รวมถึง เสียง ฝุ่น ที่จะตามมาด้วย  อีกทั้งมองว่าโครงการนี้เป็นการเอื้อประโยชน์นิคมฯเพียงแห่งเดียว



          นายธนิสร์ สมเจตนะพันธ์ วิศวกรโครงการฯ อธิบายว่า โครงการนี้แก้ไขปัญหาการจราจร รองรับการขนส่งกระจายสู่หลายภูมิภาค การออกแบบต้องศึกษาดูทั้งปริมาณการจราจรเป็นหลัก ดูผลกระทบสิ่งแวดล้อม 





         การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ จะนำไปวิเคราะห์และศึกษาถึงความเหมาะสมก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นใหญ่ในครั้งที่ 3 ช่วงเดือนก.ย.หลังจากนั้นเสนอรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากได้รับการอนุมัติจะมีการเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการก่อสร้าง



         โครงการนี้มีระยะทางรวมกว่า 4 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษบูรพาวิถีในปัจจุบันมูลค่าโครงการรวมกว่า 3,000 ล้านบาท และมีกรอบเวลาการก่อสร้างกว่า 2 ปี



ส่วนการคัดเลือกรูปแบบทางขึ้น-ลง เพิ่มเติม 2 จุด คือ



-จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณถนนบ้านเก่า และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี (บริเวณถนนเทพรัตน-ถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี) นายวิชาญ เอกรินทรากุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ(ด้านการบริหาร) กทพ.ในฐานะประธานการประชุมและรับฟังความคิดเห็น เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปว่าแบบที่ 2 มีความเหมาะสมและมีความสามารถในการรองรับสภาพการจราจรในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ





โดยจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณถนนบ้านเก่า รูปแบบที่ 2 ออกแบบเป็นทางขึ้นยกระดับขนาด 1 ช่องจราจร และทางลงขนาด 1 ช่องจราจร แยกจากทางลงทางพิเศษบูรพาวิถี เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมต่อกับถนนบ้านเก่า





-รูปแบบทางขึ้น-ลง จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี รูปแบบที่ 2  ออกแบบเป็นทางขึ้น-ลง ขนาด 1 ช่องจราจร (ทิศทางขึ้นไปกรุงเทพฯ) เริ่มจากถนนเลี่ยงเมืองชลบุรีบริเวณคอสะพาน และยกระดับแนวเดียวกันกับทางแยกต่างระดับหนองไม้แดง ทางลงเลี้ยวซ้ายเชื่อมถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้3 ส่วน คือไปตัวเมืองชลบุรีใช้ทางขึ้น-ลงเดิม,ไปเลี่ยงเมืองชลบุรีต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ จะใช้ทางขึ้น-ลง จุดสิ้นสุดโครงการ และรถที่เข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้ ชลบุรี ใช้ทางขึ้น-ลง ถนนบ้านเก่า





 



 

ข่าวทั้งหมด

X