ผู้บริหารกะทิชาวเกาะ หวังรัฐบาลเร่งเจรจาแก้ปัญหาลิงเก็บมะพร้าว ส่งผลต่อต้านกะทิไทย

07 กรกฎาคม 2563, 17:26น.


          หลังผลิตภัณฑ์กะทิ 'ชาวเกาะ'  เป็นหนึ่งในตราสินค้า ที่นำออกจากการขายชั่วคราวในห้างสรรพสินค้าที่อังกฤษ ในระหว่างการสอบสวนประเด็นใช้ลิงเก็บมะพร้าว ตามที่องค์การพิทักษ์สัตว์หรือ พีตาได้อ้างอิงพร้อมเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของตราสินค้า ชาวเกาะ ยุติการรับซื้อมะพร้าวจากแหล่งที่ทารุณลิง เพื่อที่จะตัดช่องทางและกดดันผู้ขายมะพร้าว นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตกะทิชาวเกาะ เปิดเผยกับจส.100 ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วประมาณกว่า1ปี ในส่วนของบริษัทได้ทำหนังสือชี้แจงห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ และมีคลิปวิดีโอประกอบด้วย รวมถึงชี้แจงไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทยด้วย ซึ่งครั้งนี้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อหลายสื่อช่วยกันเผยแพร่ปัญหา พร้อมยืนยันว่า บริษัทไม่ได้มีการทรมานลิงเก็บมะพร้าว เนื่องจากในปัจจุบันใช้คนเก็บได้มากกว่า คิดเป็นสัดส่วนคนเก็บได้วันละประมาณพันลูก ส่วนลิงเก็บได้เพียงกว่าร้อยลูกเท่านั้น



         ส่วนผลกระทบจากห้างสรรพสินค้าในอังกฤษที่นำกะทิของไทยลงจากชั้นยังไม่กระทบมากนัก แต่หากแก้ไขไม่ได้ สถานการณ์ลุกลามไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะได้รับความเสียหายหนักกว่านี้ ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชียเช่นจีน ยังขายได้ต่อเนื่อง และไม่ได้รับผลกระทบ



           นายเกรียงศักดิ์ เชื่อว่า หากตัวแทนทูตของประเทศเหล่านี้ ได้ลงพื้นที่จริงจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่า ไม่ใช่ใช้ลิงทำเป็นอุตสาหกรรมมะพร้าว สำหรับบริษัทใช้มะพร้าวผลิตกะทิวันละหลายล้านลูกซึ่งใช้ลิงเก็บคงไม่พอ การแก้ปัญหาครั้งนี้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องเจรจาระหว่างกัน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ บริษัทแม่คือ บริษัทเทพผดุงพร จะเข้าร่วมประชุมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  นอกจากนั้นยังแปลกใจว่า ทำไมปัญหาครั้งนี้ ถึงเน้นแต่ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทย ทั้งๆที่ในต่างประเทศ เช่นเวียดนาม อินโดนีเซียก็มีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเช่นกันทำให้เชื่อว่า อาจจะเป็นกลายประเด็นกีดกันทางการค้า



          ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลผลิตมะพร้าวของไทยในปี 2562 มีปริมาณ 7.8 แสนตัน แบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์กระทิอยู่ที่ 1.1 แสนตัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมะพร้าวที่ไทยส่งออกไปต่างประเทศมี 2 ชนิดด้วยกันคือกะทิและมะพร้าวอ่อน ส่วนของการส่งออกมีประมาณร้อยละ30 ขณะที่ร้อยละ70 บริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ การส่งออกไปในตลาดยุโรปในปี 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาทโดยร้อยละ18 ส่งออกไปตลาดยุโรปมีมูลค่า 2.2 พันล้านบาทและร้อยละ8 ส่งออกไปในตลาดอังกฤษมีมูลค่า 1 พันล้านบาท



          ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในสหราชอาณาจักร ขายผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กของชาวเอเชียถึงร้อยละ70 ส่วนอีกร้อยละ30 ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตระดับชาติ เชื่อว่ายอดขายส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจาก เจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นคนเอเชียซึ่งมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมและวิถีที่เกิดขึ้น



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X