ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันพุธที่ 8 เมษายน 256

08 เมษายน 2563, 08:56น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันพุธที่ 8 เมษายน 256



เพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อ คนไทยทยอยเดินทางกลับประเทศ



         ในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 15.30 น. จะมีเที่ยวบินจากญี่ปุ่นมีคนไทย 22 คน มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยรัฐบาลจะดูแลอย่างดี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.กล่าวว่า ส่วนการกักตัว คนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยที่อาคารรับรองที่สัตหีบ ต้องเข้าพักห้องละ 3 คน ไม่สอดคล้องกับการเว้นระยะห่าง จึงเสนอให้เหลือห้องละ 1 คน นพ.ทวีศิลป์ ตอบว่า การกักตัวถ้าได้ห้องละ 1 คนนั้นดีที่สุด แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอต้องจัดให้เป็นคู่หรือ 3 คน อยากให้ลองนึกภาพว่าการมาเป็นกลุ่ม จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูแลกี่คน ต้องเพิ่มสถานที่แบบเดียวกับสัตหีบอีกสิบแห่ง ต้องใช้คนเท่าไร ดังนั้นความเหมาะสมเราก็คำนึง ความสะดวกสบายเราก็คำนึง แต่อดทนกันสักนิด ถ้ามาวันละ 200 คน 5 วัน 1,000 คน จะอยู่ห้องละ 1 คน มันไม่ง่าย แต่เป็นภาระหน้าที่ของพวกเราที่จะพยายามดูแลรายละเอียดทุกอย่าง บางครอบครัวก็ชื่นชม ด้านดีแบบนี้ทำไมไม่เปิดเผยกันบ้าง



           ส่วนยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลง มีผู้ใหญ่หลายคน ที่เป็นนักวิชาการและผู้บริหารสาธารณสุขตั้งคำถามยอดที่ติดเชื้อน้อยลง ทำให้มีการวิเคราะห์ตัวเลข และเราไม่ได้เข้าข้างตัวเอง ขณะนี้มีตัวเลขสะสมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  71,860 คน ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพอใจ จะต้องหาหนทางเพิ่มการตรวจให้ได้มากกว่านี้   



            ขณะนี้ กทม. ปริมณฑล และทั่วประเทศตรวจได้วันละ 20,000 ราย ซึ่งทำเต็มที่แล้ว เราจะพยายามเพิ่มให้ได้มากขึ้น เหมือนกับบางประเทศที่ตรวจได้แสนรายต่อวัน เราจะทำให้ได้ เราไม่กลัวที่ยิ่งตรวจเยอะ เพราะเรามีการเตรียมเตียงไว้หลายระดับทั้งเบาและไอซียู         



สธ.ปรับเกณฑ์หาเชื้อ



          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สธ.ได้ขยายเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสอบสวนโรค และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และอีกส่วนคือคนอาจไม่มีอาการแต่มีความเสี่ยงสูง โดยในส่วนของการเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากทุกประเทศ หากป่วยมีไข้ 37.3 องศาฯ มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับมีประวัติเสี่ยงเดินทางไป-มาจากทุกประเทศทั่วโลก ต้องได้รับการสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติการ จุดที่ 2 กรณีผู้ป่วยมาที่สถานพยาบาล หากคนมีอาการไข้ อาการโรคระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ สัมพันธ์กับการประกอบอาชีพเสี่ยง สัมผัสคนต่างชาติจากทุกประเทศที่เข้าไทยในระยะ 14 วัน หากคนไทยที่มีอาชีพสัมผัสแล้วมีอาการ ต้องได้รับการสอบสวนและรับการตรวจแล็บ



          นพ.สุวรรณชัย เปิดเผยว่า กลุ่ม 3 คือกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ รักษาไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีอาการรุนแรงเสียชีวิต ถ่ายภาพรังสีแล้วเข้าได้กับโรคโควิด-19 จะได้รับการสอบสวนและตรวจแล็บอยู่แล้ว



          ทั้งนี้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วันนี้พบติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน และเมื่อวันที่ 6 เม.ย. มีบุคลากรการแพทย์ที่ รพ.วชิระภูเก็ต รักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุที่ตรวจพบโรคโควิด-19 ในภายหลังต้องกักตัว 112 คน ในจำนวนนี้กว่า 90 คน ผลตรวจออกมาเป็นลบแต่ต้องกักแยกไม่น้อยกว่า 14 วัน ดังนั้นจึงมีเกณฑ์ใหม่ให้แยกเฝ้าระวัง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขออกมา โดยใช้ตัวตรวจจับเรื่องการไข้ อาการทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ สิ่งหนึ่งที่กำหนดเรื่องประวัติ คือหากแพทย์ผู้ตรวจมีความสงสัย ร่วมกับการสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้สงสัยป่วย บุคลากรสามารถเข้ารับการตรวจเชื้อทุกราย เพื่อให้สัมพันธ์กับสถานการณ์และองค์ความรู้ที่พบ



         กลุ่มสุดท้ายคืออีกไม่นานเราจะเข้าหน้าฝน สิ่งที่พบคือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ดังนั้นหากพบผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน และมีผลตรวจไม่ว่าจะแรบปิด เทสต์ หรือเรียลไทม์ พีซีอาร์ที่ให้ผลเป็นลบจะต้องแยก หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ป่วยมากกว่า 3 คน ต้องแยกออกมาตรวจแล็บหาโควิด-19 ส่วนประชาชนทั่วไปป่วย 5 คนขึ้นไปต้องแยกออกมาตรวจแล็บพร้อมสอบสวนโรคต่อไป



          ในส่วนของคนที่สัมผัสไม่มีอาการ จะจำแนกทันทีเมื่อพบผู้ป่วยยืนยันและทำการตรวจหากพบว่ามีไข้ จะต้องเข้าเกณฑ์จัดการทันที หากไม่มีไข้ต้องเฝ้าระวังที่บ้านไม่น้อยกว่า 14 วัน เช่น สมาชิกในครอบครัว คนเดินทางร่วมยานพาหนะ ครอบคลุมคนขับ และตำรวจ ตม. หรือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และบุคลากรทางการแพทย์ ขอยืนยันว่ากระบวนการเหล่านี้ดำเนินการฟรีทุกราย



          นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับที่มีผู้ทำนายว่าภายในวันที่ 15 เม.ย. ไทยจะมีผู้ป่วยถึง 7,500 คน หากดูตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,000 กว่าคน ตัวเลขผู้ป่วยใหม่แกว่ง ๆ แต่อยู่หลัก 100 กว่าคน วันนี้ลงต่ำ 38 คน ที่เกิดจากการที่ประชาชนให้ความร่วมมือ นั้นแปลว่าเรายังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ไม่ให้เชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ และยังต้องการความร่วมมือจากประชาชนต่อเนื่อง ในการสวมหน้า กาก ล้างมือบ่อย ๆ แยกของใช้ และการเว้นระยะห่างทางสังคม หากมีอาการเข้าเกณฑ์ให้รีบแจ้ง อย่าโกหก เพื่อจะได้รีบนำเข้าระบบ จะทำให้ถึงวันที่ 15 เม.ย. ไม่เป็นไปตามที่ผู้รู้คาดการณ์ เรื่องนี้ต้องช่วยกันทุกคนในสังคม



          ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการขยายการคัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสมาตลอด โดยมีการตรวจแล้วทั้งหมด 71,860 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้มีการขยายเกณฑ์ การตรวจคัดกรองเพิ่ม ดังนั้นในส่วนของห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ด้วยวิธี เรียลไทม์ พีซีอาร์ (RTPCR) มีการขยายเครือขายเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีกว่า 40 แห่ง สามารถตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง ส่วนต่างจังหวัดมีประมาณ 40 กว่าแห่ง สามารถตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่างเช่นเดียวกัน เบื้องต้น รพ.ศูนย์ในจังหวัดใหญ่ มีครบแล้ว ส่วนจังหวัดเล็กบางจังหวัดไม่มี จะส่งตรวจที่จังหวัดใกล้เคียง ยกเว้นจังหวัดเล็กที่มีปัญหาการคมนาคมไม่สะดวกจะต้องไปสนับสนุน เช่น แม่ฮ่องสอน และ 3 จังหวัดภาคใต้



          ขณะนี้มีโครงการขยายแล็บไปทุกจังหวัด เป้าหมายคือ 110 แห่ง คาดว่าภายในสิ้นเดือน เม.ย. นี้ จะครบ ส่วนน้ำยาตรวจนั้นกรมวิทย์ผลิตได้เอง ที่ผ่านมาใช้ตัวที่ผลิตเองโดยกรมวิทย์ ร่วมกับบริษัทสยามไบโอไซม์ ผลิตเองไม่ได้มีการนำเข้า โดยในสิ้นเดือน เม.ย. นี้ จะมีเพิ่ม 100,000 ชุด ถ้าการระบาดยังมีมากจะผลิต 1,000,000 ชุดใน 6 เดือน ส่วนเอกชนจะเป็นการนำเข้า ขณะเดียวกันปรับระบบการรายงานผลผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค (PUI) เป็นแบบออนไลน์ภายใน 24 ชั่วโมงด้วย เชื่อว่าถ้าเป็นช่วงกำหนด ดี ๆ จะใช้เวลา 12 ชั่วโมง



ครม.ไฟเขียว มาตรการเยียวยาโควิดระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท



           ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (7เม.ย.) มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ครั้งสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) รวม 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9  ล้านล้านบาท แบ่งเป็น พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท



          ส่วนอีก 2 ฉบับ เป็น พ.ร.ก. ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 500,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. เข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระ วงเงิน 400,000 ล้านบาท



          สำหรับการจัดทำ พ.ร.บ. โอนงบประมาณ ปี 2563 ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ และให้สำนักงบประมาณทำรายละเอียดเสนอ ครม.วันที่ 14 เม.ย.นี้ก่อนเสนอรัฐสภาเห็นชอบโดยคาดว่ามีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้รวมทั้งจะโอนงบประมาณเข้ามาเป็นงบกลางได้ 80,000 -100,000 ล้านบาท หลังจากงบกลางปี  2563 เหลือเพียง 3,000 ล้านบาท



          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้แก้ปัญหา โดยมีเงินเยียวยาเศรษฐกิจ การสาธารณสุข และการใช้งบประมาณด้านอื่น โดยใช้งบกลางไปแล้ว 90,000 ล้านบาท แต่ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และรุนแรงและยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยาวนานเพียงใดจึงต้องเตรียม วงเงินงบประมาณจำนวนมากถึง 2 ล้านล้านบาท คาดว่าพ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ ภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยกระทรวงการคลังจะหาแหล่งเงินกู้สำหรับวงเงินนี้ที่เหมาะสม และเริ่มกู้เงินในเดือน พ.ค.นี้ โดยจะเป็นการทยอยกู้และเน้นกู้เงินในประเทศ รวมทั้งการพิจารณาโครงการจะมีคณะกลั่นกรองโครงการที่ ครม.แต่งตั้ง มาพิจารณา ซึ่งจะต้องดูแลกระบวนการการปฏิบัติให้คล่องตัวเพื่อโครงการอนุมัติแล้วจะได้ใช้เงินให้เร็วที่สุด



          สำหรับพ.ร.ก.การกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทจะต้องกู้ภายในวันที่ 30 ก.ย.2564 หรือ 1 ปี 6 เดือน โดยการ กู้เงินจะไม่ได้เป็นการกู้ครั้งเดียวทั้งหมด ครั้งเดียวมากองไว้ 1 ล้านล้านบาท และจะเน้นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก



ขยายชดเชยเป็น6เดือน



          สำหรับแผนการใช้เงินของกระทรวงการคลังที่จะมีการออก พ.ร.ก.1ล้านล้านบาท จะนำไปใช้ในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ลูกจ้าง ลูกจ้างอิสระเดือนละ 5,000 บาท โดยขยายระยะเวลาในการดูแลประชาชนในกลุ่มนี้จากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน จนถึงเดือน ก.ย.2563



          นอกจากนี้จะมีการดูแลเกษตรกรที่จะประกาศรายละเอียดต่อไปถึงเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งจะไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดแต่จะรวมผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ด้วย และด้านสาธารณสุขมีการกำหนดจัดงบประมาณเพิ่มเติมหากที่ความจำเป็นต้องใช้โดยคาดว่าในกลุ่มนี้จะใช้เงินประมาณ 600,000 ล้านบาท



ตัวเลขคนว่างงานเดือนมี.ค. เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 72



           โรคระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจหนัก นายจ้างแห่ปิดตัว-พักกิจการทำลูกจ้างตกงาน ทำให้ยอดเดือนมี.ค.2563 ผู้ประกันตนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้าง) จำนวน 144,861 ราย เทียบกับเดือนก.พ. มีจำนวน 84,177 ราย เพิ่ม 60,684 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ  72 



             ส่วนการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยรายได้ มีอัตราเพิ่มเพียงร้อยละ12.57 และคาดว่าตัวเลขในเดือนเม.ย จะขยายในอัตราเร่งขึ้นอีก เนื่องจากมีลูกจ้างที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (รัฐสั่งปิดสถานที่-เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกสั่งกักตัวกันแพร่เชื้อ 14 วัน) ยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนแล้วถึง 300,000 ราย ซึ่งนายจ้างรับรองแล้วเพียง 30,000 นาย จึงควรรีบดำเนินการเพื่อกองทุนฯจะได้ปล่อยเงินได้ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพียงรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา



          สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) คาดการณ์คนตกงานเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ว่า จะอยู่ที่ราว 6,500,000 คน โดยเป็น 1.แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2,750,000 คน 2. ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการโดยคำสั่งรัฐ แยกเป็น ลูกจ้างในร้านค้า, ร้านอาหารในห้าง 1,000,000 คน ร้านค้ารายย่อย 840,000คน แผงลอย 90,000 คน ร้านนวดแผนโบราณ เสริมสวย 370,000 คน ร้านอาหาร 210,000 คน แรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ปิดชั่วคราวอีกหลายแสนคน แรงงานเด็กจบใหม่ 500,000 คน คนตกงานสะสม 400,000 คน



กระทรวงแรงงาน  อัดมาตรการเยียวยาลูกจ้าง



          ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า มาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมมาตรการที่ออกมาคือ ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างเหลือ ร้อยละ4  (เดิมร้อยละ5 ) ลูกจ้างร้อยละ 1 (เดิม ร้อยละ 5) 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) ผู้ประกันตน ม.39-40 เหลือเดือนละ 86 บาท ขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบ3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) เลื่อนไปชำระภายในวันที่ 15 ก.ค.-15 ก..ย.



          การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย (รัฐสั่งปิดสถานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกสั่งพักงาน 14 วัน) ผู้ประกันตน ม.33 ที่ไม่ได้ทำงานไม่มีรายได้ ได้ชดเชย 62% (เดิม 50%) ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งอัตรานี้ทำให้ผู้ประกันตนที่มีรายได้ระดับค่าแรงขั้นต่ำ (วันละ313บาท หรือเดือนละ 9,390 บาท จะได้รับการชดเชยที่ 5,821 บาท) ส่วนผู้ประกันตน ม.39-40 ที่ไม่ได้สิทธิทดแทนว่างงานอยู่แล้ว ให้ใช้สิทธิลงทะเบียน "เราไม่ทิ้งกัน "รับเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท 6 เดือน



          รวมทั้งปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ว่างงานจากการลาออก ได้ทดแทนอัตราร้อยละ45ของค่าจ้างจนกว่าจะหางานใหม่ได้ แต่ไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี) และกรณีเลิกจ้างจากปิดกิจการ ลูกจ้างได้รับชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามอายุงานตั้งแต่ 30 วัน สูงสุด 400 วัน และต้องบอกล่วงหน้า 30 วันแล้ว ไปสิทธิประโยชน์ชดเชยว่างงานระหว่างหางานใหม่ได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 200 วัน (บังคับ 2 ปีเช่นกัน) โดยค่าจ้างในระบบประกันสังคมมีเพดานสูงสุดที่ 15,000 บาท



          นอกจากนี้กองทุนประกันสังคม ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท (3ปี) เพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมมียอดเงินสะสม(ณ ไตรมาสแรก 2562) ที่ 2,063,627 ล้านบาท มีสมาชิกผู้ประกันตนรวม 16,657,679 คน เป็นผู้ประกันตนม.33(ลูกจ้างพนักงาน) 11,692,429 คน ผู้ประกันตนม.39-40 (อดีตลูกจ้าง-อาชีพอิสระ สมทบเอง) 4,965,250คน

ข่าวทั้งหมด

X