ไวรัสโควิด-19 ทำให้สภาพอากาศในยุโรป และเมืองใหญ่ทั่วโลกดีขึ้น

30 มีนาคม 2563, 13:07น.


          ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านให้มากที่สุดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การจราจรบนท้องถนนลดลง โรงงานหลายแห่งหยุดเดินเครื่องจักรส่งผลให้สภาพอากาศดีขึ้น โดยมีไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และพันธมิตรด้านการสาธารณสุขสาธารณะแห่งสหภาพยุโรป (EPHA) ร่วมกันวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม โคเปอร์นิคัส เซนติเนล 5-พี (Copernicus Sentinel-5P) และเปิดเผยในวันนี้ (30 มี.ค.) ว่า สภาพอากาศของเมืองใหญ่หลายแห่ง อาทิ บรัสเซลส์ ปารีส มาดริด มิลาน และแฟรงค์เฟิร์ต มีระดับของไนโตรเจนไดออกไซด์ในช่วงวันที่ 5-25 มีนาคม ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว          ก่อนหน้านี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป (EEA) รายงานว่าในช่วงวันที่ 16-22 มีนาคม กรุงมาดริดของสเปน มีระดับไนโตรเจนไดออกไซด์โดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 56 หลังจากที่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม รัฐบาลสเปนมีประกาศห้ามเดินทางโดยไม่จำเป็น เช่นเดียวกับเมืองใหญ่หลายแห่งในจีน ที่มีปัญหามลพิษลดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ทางการจีนใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด นายเฮนก์ เอสเคส นักวิจัยจากสถาบันพยากรณ์อากาศแห่งเนเธอร์แลนด์ (KNMI) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันชาวจีนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ธุรกิจห้างร้านและโรงงานหลายแห่งกลับมาเดินเครื่องจักร ทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศเริ่มกลับมาอีกครั้ง



          EPHA เตือนว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศอาจมีความเสี่ยงจากโควิด-19 มากขึ้นเนื่องจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงทำให้ยากต่อการต่อสู้กับการติดเชื้อ โดยมลพิษทางอากาศยังสามารถทำให้เกิด หรือทำให้อาการของมะเร็งปอดมีความรุนแรงขึ้น องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปี มลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 7 ล้านคน นอกจากนี้ร้อยละ 91 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตที่คุณภาพอากาศเลวร้ายกว่าเกณฑ์ปลอดภัย และ 9 ใน 10 ของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่เป็นมลพิษเข้าไปในร่างกาย



...

ข่าวทั้งหมด

X