กทม.ออก11มาตรการ ให้ขรก.และบุคลากรงดเดินทางไปประเทศเสี่ยง สกัดโควิด-19

27 กุมภาพันธ์ 2563, 15:31น.


            พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ และมีรายงานพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ประกอบกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 กรุงเทพมหานคร จึงกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกัน



-ชะลอการอนุมัติหรืออนุญาตการเดินทางไปฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน และปฏิบัติการวิจัยระหว่างประเทศ หรือการเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยภารกิจส่วนตัวของข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรของกรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด 



-กรณีที่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตให้เดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขก่อนประกาศฯ ฉบับนี้ ให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรของกรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด งดหรือเลื่อนการเดินทางออกไปจนกว่ากระทรวงสาธารณสุขจะประกาศยกเลิกประเทศที่มีความเสี่ยง กรณีมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ ให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรของกรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร แจ้งเหตุจำเป็นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติหรืออนุญาตเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ การเดินทางไปต่างประเทศที่มีความเสี่ยงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาต ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องมีการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 นี้ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง



-ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศหรือกลับจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยให้ผู้นั้นมีหน้าที่ ดังนี้ เข้ารับการตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร หรือสถานพยาบาลของรัฐที่มีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวัง และพักเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วัน (โดยไม่ถือเป็นวันลา) และให้รายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชาทราบผ่านทางอีเมล์หรือแอปพลิเคชั่นไลน์ทุกวัน และให้รวบรวมจัดส่งกองควบคุมโรค สำนักอนามัย ทุก 7 วันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยผู้บังคับบัญชาอาจมอบหมายงานให้ปฏิบัติในระหว่างที่พักเพื่อเฝ้าดูอาการได้ตามแต่กรณี และในระหว่าง 17 วัน ให้ตรวจสอบและระมัดระวังตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย หากมีอาการไข้ หรือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หรือสัมผัสผู้ป่วยต้องสงสัย ให้ไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาล โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร หรือศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ สามารถสอบถามเกี่ยวกับเรื่องรักษาพยาบาลได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ 1646 และรายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว



-หากมีบุคคลจากประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงฯ มาติดต่อราชการในกรุงเทพมหานคร ให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครปฏิบัติตามมาตรการของกระทวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด (สามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่ www.ddc.moph.go.th/viralpneumonia/intro.php) ให้ชะลอการเชิญบุคคลจากต่างประเทศมาร่วมการประชุม การสัมมนา หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานครออกไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะคลี่คลาย กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ให้เสนอเหตุจำเป็นต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาพิจารณา และกำหนดมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสม



-กรณีข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดเดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือสัมผัสผู้ต้องสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อการติดต่อโรคนี้ ให้พักเพื่อเฝ้าดูอาการของบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดเป็นเวลา 14 วัน และให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 3. 



-ขอความร่วมมือผู้ปกครองเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ให้เด็กนักเรียนในความปกครองหยุดโรงเรียนเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ 



-ให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ระมัดระวังและป้องกันตัวเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าขณะปฏิบัติงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ 



-ให้สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งบุคลากร เวชภัณฑ์ และสถานที่



-ให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทำความสะอาดพื้นที่ภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมความรู้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แก่เด็กนักเรียน หากพบเด็กนักเรียนในโรงเรียนป่วย ให้แยกเด็กนักเรียนเพื่อเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเหมาะสม 



-ให้ทุกหน่วยงานจัดวางแอลกอฮอล์เจลไว้ในจุดให้บริการสำหรับประชาชน และบุคลากรในสังกัดให้เพียงพอ 



-ให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง และให้หน่วยงานที่มีการให้บริการประชาชนโดยตรง เช่น สำนักงานเขต โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการอย่างต่อเนื่อง



           เนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประโยชน์สาธารณะ กรุงเทพมหานครจึงขอให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญและถือปฏิบัติตามประกาศนี้โดยเคร่งครัด จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ข่าวทั้งหมด

X