บริษัทอินเตอร์เน็ตชั้นนำของโลกร่วมกันสกัดข้อมูลเท็จโควิด-19

26 กุมภาพันธ์ 2563, 19:58น.


               เอเอฟพีรายงานอ้างศาสตราจารย์คาร์ล เบิร์กสตรอม อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐฯว่ากรณีโรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเตอร์เน็ตเช่น กูเกิล,เฟซบุ๊กของสหรัฐฯและบริษัทอื่นๆ รวมถึงสื่อออนไลน์ชั้นนำของจีนคือ เทนเซนต์ และติ๊กต็อก ซึ่งประชุมกับเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ที่สำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กในย่านซิลิคอนแวลลีย์ให้คำมั่นจะร่วมหาทางสกัดการแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อป้องกันนักแพร่ข่าวเท็จ กลุ่มที่ส่งข้อความทางอินเตอร์เน็ตเพื่อสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนอื่นหรือกลุ่มอื่นๆที่มีเจตนาร้ายที่มักจะฉวยโอกาสใช้เหตุการณ์ร้ายหรือภัยพิบัติใหญ่ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือปลุกปั่นคนอื่นๆให้จ่ายเงินซื้อสินค้าออนไลน์



             ศาสตราจารย์เบิร์กสตรอม ได้ยกกรณีศึกษาที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุมเช่น พ่อค้าบางคนเสนอขายผลิตภัณฑ์น้ำมันจากงู หลอกลวงว่ามีสรรพคุณรักษาโรคโควิด-19 หรือการหลอกลวงในลักษณะอื่นๆเพื่อหวังผลทางธุรกิจ แต่ไม่ผ่านการทดลองวิจัยให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคได้จริง ที่ผ่านมา กลุ่มนักแพร่ข้อมูลเท็จใช้ความหวั่นวิตกของสาธารณชนในเรื่องโรคโควิด-19 เป็นเครื่องมือในการแพร่ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน



            ก่อนหน้านี้ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ขอให้บริษัทอินเตอร์เน็ตชั้นนำของโลกให้ช่วยสกัดการแพร่ข่าวลือและข้อมูลเท็จต่างๆ โดย WHO จะทำงานร่วมกับบริษัทกูเกิล เพื่อให้แน่ใจว่าคนที่สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทางอินเตอร์เน็ตจะสามารถเห็นข้อมูลของ WHO ในลำดับต้นของผลการสืบค้นข้อมูล 

ข่าวทั้งหมด

X