อธิบดีกรมชลฯ ขอเกษตรกรใช้น้ำตามแผน ปรับรอบสูบน้ำ รับมือน้ำเขื่อนหลักน้อย

20 กรกฎาคม 2562, 16:35น.


การบริหารจัดการน้ำรับมือน้ำในเขื่อนน้อย หลังจากเมื่อวานนี้ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ จ.ตาก และ จ.อุตรดิตถ์ และพบว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักหากฝนไม่ตกตามฤดูกาล สถานการณ์น้ำจะน่าเป็นห่วง นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จะต้องแบ่งพื้นที่บริหารจัดการน้ำเป็น2ส่วนคือ พื้นที่การเกษตร และ พื้นที่ในลำน้ำ โดยพื้นที่การเกษตร มีการรับน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้วางแผนการเพาะปลูก เช่นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนการปลูกข้าวในฤดูฝน 7.6ล้านไร่ ปัจจุบันปลูกไปแล้วประมาณ6ล้านไร่  อาจจะมีบางพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้น้ำหมุนเวียนหรือรอบเวร จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรใช้น้ำเป็นระบบรอบเวร หากใช้น้ำพร้อมกันจะเกิดผลกระทบตามมาทันที



ส่วนพื้นที่ในลำน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนลงมา ก็จะมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น ฝาย ประตูระบายน้ำ  อยู่ตามลำน้ำ สิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค  หากทำตามระบบก็สามารถลดการระบายน้ำจากเขื่อนได้ ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีระดับที่เพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญขอความร่วมมือสถานีสูบที่อยู่ตามลำน้ำ ปรับแผนการสูบน้ำ อาจจะเป็นหยุดสูบน้ำ4วัน สูบน้ำ3วัน ซึ่งกรมชลประทานได้กำหนดรอบเวรการสูบน้ำในพื้นที่ไปแล้วขณะนี้บางพื้นที่ก็มีผลกระทบแล้ว เช่น จังหวัดกำแพงเพชร มีชาวนามาร้องเรียนให้ส่งน้ำในการปลูกข้าวนาปี ซึ่งเป็นจุดที่อยู่บริเวณปลายคลองวังบัว จ. พิจิตร กรมชลประทาน ได้ปรับแผนรับน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าไปให้ แต่ที่เรียกร้องให้หยุดการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้แก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้าไปช่วย จะได้ไม่กระทบกับการก่อสร้างประตูระบายน้ำ  หลังจากนี้จะต้องอธิบายให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ  ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ จึงขอความร่วมเกษตรกรหากใช้น้ำมากก็จะกระทบ



การทำฝนหลวง ได้ประสานไปยังกรมฝนหลวงแล้ว แต่ต้องดูสภาพอากาศ ความชื้นสัมพันธ์ ในแต่ละวันด้วย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอระดมเครื่องบินจากเหล่าทัพต่างๆเข้ามาดำเนินการด้วย อย่างน้อยก็สร้างความชุ่มชื้นในดินได้หากฝนตกในปริมาณมาก น้ำก็จะเข้าไปเติมในเขื่อนเพิ่มขึ้น กรมชลประทานได้ชี้เป้าเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 สามารถดำเนินการทันที อธิบดีกรมชลประทานยืนยันขณะนี้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร  สถานการณ์ยังไม่เหมือนปี 2558 ที่มีน้ำอยู่เพียง500ล้านลูกบากศ์เมตร แต่ปีนี้น้ำในเขื่อนหลักมีรวมกันประมาณ1,500 ล้านลูกบากศ์เมตร



ผู้สื่อข่าว: ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X