ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น. 20 พฤษภาคม 2562

20 พฤษภาคม 2562, 07:03น.


กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เตรียมเผยแพร่รายงานในรอบครึ่งปี เรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนประเทศที่ต้องจับตามองเรื่องการแทรกแซงค่าเงินจนมีผลกระทบต่อการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ จากเดิมมี 12 ประเทศ เป็น 20 ประเทศ โดยอาจติด 1 ใน 20



สำหรับประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สหรัฐฯจับตามองเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน 12 ประเทศ คือ จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฝรั่งเศส แคนาดา สหราชอาณาจักร และบราซิล และประเทศที่อาจเพิ่มได้แก่ รัสเซีย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไอร์แลนด์ มาเลเซีย เป็นต้น โดยเป็นกลุ่มประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ เกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีซึ่งเป็นการปรับลดลง จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ของจีดีพี และซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิเกินร้อยละ 2 ของจีดีพี ในช่วง 12 เดือน โดยไทยมีคุณสมบัติเข้าตามเงื่อนไข 2 ใน 3 ข้อ คือมีสัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีที่ร้อยละ 7.4 และไทยยังได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมากกว่า 1 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์ หรือเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 11 และเป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ อันดับที่ 20 ซึ่งทำให้ไทยอาจถูกบรรจุอยู่ในบัญชีเฝ้าระวัง เพื่อจับตาดูนโยบายการเงินของไทย



ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรอ. จะมีการติดตามข้อมูลในประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้ง ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่เข้ามากระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีแต่ต้องติดตามว่าผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะมีผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในระยะต่อไปหรือไม่



นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไท หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ในส่วนการเตรียมการรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐฯและจีนรอบล่าสุด ทางประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มีการประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและเตรียมรับมือ จึงเสนอให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ กับสหภาพยุโรป และอินเดีย



นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการสอบถามข้อมูลด้านสถานการณ์และเป้าหมายการส่งออกเป็นรายภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปประมวลกับการประชุมทูตพาณิชย์ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence  Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ในประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน โดยระบุว่า สงครามการค้าส่งผลลบต่อภาคการส่งออกไทยผ่าน 2 ช่องทาง คือ ทางตรงผ่านห่วงโซ่อุปทานการค้าไทย-จีน และทางอ้อมผ่านภาวะการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากเศรษฐกิจจีนและคู่ค้า หากสหรัฐฯและจีนยังไม่มีความคืบหน้าในข้อตกลงการค้าในระยะเวลาอันใกล้ จะส่งผลให้แนวโน้มมูลค่าส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐในปีนี้มีโอกาสสูงที่จะเติบโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.7 จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยเร่งกระจายตลาดส่งออก และพิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าของไทยในปัจจุบันเพื่อเพิ่มโอกาสการขยายตลาด รวมถึงป้องกันความผันผวนของค่าเงินในระยะต่อไป



นอกจากนี้ต้องติดตามสินค้าราคาถูกจากจีนที่อาจเข้ามาไทย เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก



นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA-JC) ครั้งที่ 12 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องวันที่ 20-22 พฤษภาคม โดยมีการหารือประเด็นสำคัญ ได้แก่ การยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยเฉพาะการเปิดเสรีลดหรือยกเลิกภาษีเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่มีการเปิดเสรีในรอบที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของรายการสินค้าทั้งหมด นอกจากนี้ จะมีการหารือประเด็น คงค้างต่าง ๆ เช่น การบังคับใช้พิธีสารเพื่อยกระดับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน (ACFTA Upgrading Protocol) การบังคับใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าฉบับใหม่ (Revised PSR) ของอาเซียนและจีน



นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญท่ามกลางวิกฤติการค้าโลกที่เกิดขึ้น ไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้และในฐานะประเทศผู้ประสานงานการหารือกับจีนเรื่องการยกระดับเอฟทีเออาเซียน-จีน จึงให้ความสำคัญกับการหารือเรื่องที่จะทำให้การค้าระหว่างอาเซียนกับจีนราบรื่น การลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งกลไกสำคัญเบื้องต้น คือ การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมและการผลักดันให้พิธีสาร ACFTA Upgrading Protocol และ Revised PSR มีผลใช้บังคับโดยเร็ว



 ....

ข่าวทั้งหมด

X