สอจร.จัดจิตอาสา ช่วยปรับพฤติกรรมคนขับรถบรรทุก ลดอุบัติเหตุไหล่ทาง ถ.มิตรภาพ จ.อุดรฯ

12 กุมภาพันธ์ 2562, 22:22น.


ค่ำวันนี้ สื่อมวลชน ลงพื้นที่ริมถนนมิตรภาพก่อนเข้าเมืองอุดรธานี เพื่อติดตามนวัตกรรมการจัดระบบป้องกันการชนริมทางของสำนักงานขนส่งจังหวัดอุดรธานี เป็นการลงพื้นที่ติดตามดูสภาพถนนตามแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด(สอจร.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)



นาย ไกรสร แจ่มทอง ขนส่งจังหวัดมุกดาหาร ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการชนท้ายรถจอดไหล่ทาง เปิดเผยว่า ในพื้นที่นี้ เกิดอุบัติเหตุทางถนนบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่ เกิดจากรถบรรทุกที่มาจอดไหล่ทางเพื่อนอนรอส่งสินค้าข้ามไปประเทศลาวในช่วงเช้า ทำให้รถที่ขับมา มองไม่เห็นแล้วเข้าชนท้ายจนเกิดอุบัติเหตุ จึงได้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อมุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว บริเวณริมถนนมิตรภาพตั้งแต่อ.เมือง จ.อุดรธานี-อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ที่มีระยะทางรวม 50 กิโลเมตร โดยใช้งบส่วนตัวดำเนินการเองแทบทั้งหมด ยกเว้นจากช่วงปี 2560-2561 ที่ได้รับงบสนับสนุนจากสสส. มา 550,000 กว่าบาท ในทุกวันก็จะจัดเจ้าหน้าที่อาสา ออกเป็น 2 ชุด แต่ละชุดรับผิดชอบพื้นที่ริมถนนประมาณ 25 กิโลเมตร โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดละ 10 นาย สลับกันออกตรวจตราในพื้นที่รับผิดชอบทั้งคืนตั้งแต่เวลา 19.00น.ว่ามีรถจอดนอน, จอดเสีย หรือมีอุบัติเหตุหรือไม่ หากมีก็จะแนะนำให้ไปจอดในจุดที่ปลอดภัยที่มี 4 จุดรอบบริเวณ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทางคู่ขนาน เช่น ทางคู่ขนานโนนสูง หรือจะนำกรวยมาตั้งป้องกันหากเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ รับว่าในช่วงทำโครงการเริ่มแรกมีปัญหากับผู้ขับรถที่ไม่พอใจการตักเตือน แต่ระยะหลังดีขึ้น เพราะผู้ขับรถฟังและเกรงกลัวมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2559 ทั้งจังหวัดอุดรธานีมีผู้เสียชีวิต 40 ศพจากอุบัติเหตุรถชนรถจอดไหล่ทาง ส่วนปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 20 ศพ ขณะที่ปี 2561 มีผู้เสียชีวิต2 ศพ โดยปีนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งก็ถือว่าสถิติลดลงชัดเจน





นาย ไกรสร ยังบอกว่า พยายามสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการรถบรรทุกในเรื่องการไม่ให้รถบรรทุกจอดไหล่ทาง และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ขับรถด้วยการตักเตือน, แจกใบปลิว และประชาสัมพันธ์การใช้ถนนที่ถูกต้อง แม้ว่าตามความจริงแล้วการจอดไหล่ทางจะทำไม่ได้และถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก 2522 ที่ต้องปรับก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ขนส่งก็ไม่เคยจับปรับ



นอกจากพื้นที่นี้แล้ว ยังมีที่จ.หนองคาย และจ.บึงกาฬ ที่มีการจัดเจ้าหน้าที่อาสาเหมือนจ.อุดรธานี เช่นกัน แต่เป็นในลักษณะการกู้ชีพแทน โดยทั้ง 3 จังหวัด ใช้เจ้าหน้าที่จิตอาสาทั้งสิ้น 227 คน ซึ่งส่วนมาก ผ่านการอบรมขั้นพื้นฐาน





จากการสังเกต ในช่วงการลงพื้นที่ในช่วงค่ำนี้ พบรถบรรทุกจอดไหล่ทางเป็นระยะไม่ต่ำกว่า 3 คัน โดยไม่เปิดไฟฉุกเฉินหรือกรวยกั้นป้องกันอุบัติเหตุ ส่วนรถที่ขับมาก็ขับด้วยความเร็ว เนื่องจากบริเวณนี้เป็นทางตรงตลอด ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามที่วางแนวทางไว้



 



 ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์  สิทธิเกรียงไกร 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X