เลขาฯกกต.ชี้แจงระเบียบข้อบังคับการเลือกตั้งส.ส.จะเริ่มใช้หลังพรฎ.เลือกตั้ง ประกาศใช้

16 มกราคม 2562, 14:16น.


หลังจากที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ระเบียบข้อบังคับทั้งหมดจะเริ่มใช้หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง(พรฎ.เลือกตั้ง) ประกาศใช้ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ กฎหมายได้ควบคุมหลักต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองไว้ทั้งหมด เช่น การหาเสียงต้องห้ามใช้เงินซื้อเสียง และไม่ใส่ร้ายผู้อื่น, ป้ายหาเสียงต้องเป็นบอร์ดขนาด A3 ส่วนแผ่นป้ายต้องมีขนาด 130×245ซม. ต้องติดเฉพาะที่ที่กำหนดให้ และไม่บังการจราจร ส่วนป้ายติดรถหาเสียงและเวทีหาเสียง ไม่จำกัดขนาด แต่มีได้เฉพาะรูปถ่าย, นโยบาย, คำขวัญ, ภาพของผู้สมัครและหัวหน้าพรรคเท่านั้น ห้ามหาเสียงในโทรทัศน์และวิทยุ เว้นแต่ได้รับอนุมัติตามที่กกต. จัดให้ โดยจะจัดเวลาให้พรรคละไม่เกิน 10 นาที ส่วนการหาเสียงผ่านสังคมออนไลน์ต้องอยู่ในกรอบของกกต. ที่ได้ออกระเบียบให้แจ้งมายังเลขาธิการกกต. ว่าจะใช้สื่อใด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำผิดกฎหมาย



ส่วนผู้สมัครส.ส. แบบแบ่งเขต ใช้งบประมาณหาเสียงได้ไม่เกิน 1,500,000 บาท ต่อคนต่อหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 20 คน เปลี่ยนตัวบุคคลได้ไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ต้องแจ้งให้กกต. ทราบด้วย ผู้สมัครส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ใช้งบได้ไม่เกินคนละ 3,500,000 บาท



ด้านการดีเบตได้แบ่งพรรคการเมืองเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ส่งผู้สมัครส.ส. 300-350 เขต, กลุ่มที่ส่งผู้สมัครส.ส. 200-299 เขต และกลุ่มที่ส่งผู้สมัครส.ส. ต่ำกว่า 200 เขต โดยจะนำมาดีเบตกันในแต่ละกลุ่ม กกต. จะทำหนังสือส่งไปให้ประชาชนทราบประวัติโดยย่อของผู้สมัครส.ส. ของแต่ละพรรคการเมือง รวมทั้งรายชื่อแคนดิเดท นายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค นอกจากนี้ ยังได้ทําป้ายไวนิลส.ส. และทำแอปพลิเคชั่นฉลาดเลือก เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่ามีชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้งใด



เลขาธิการกกต. ยืนยันว่า พรรคการเมืองใช้สถานที่ราชการเป็นเวทีปราศรัยได้ แต่อำนาจในการให้ใช้สถานที่เป็นของเจ้าของสถานที่ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐในสถานที่ดังกล่าวต้องวางตัวเป็นกลาง ทั้งนี้หลังจากที่พรฎ.เลือกตั้ง ประกาศใช้ ผู้สมัครจะไม่สามารถลงพื้นที่ตามปกติได้ เพราะสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการหาเสียง พร้อมปฏิเสธไม่ทราบกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยจะต้องตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งในส่วนของกอ.รมน. ก็สามารถช่วยกกต. ได้ในเรื่องความสงบเรียบร้อย



ส่วนที่กกต. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของอดีตรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะนี้ อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ประธานกกต. ลงนามในสัปดาห์นี้ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมระบุว่าพรรคพลังประชารัฐยังไม่มีการแจ้งรายละเอียดเรื่องการจัดระดมทุนของพรรคเข้ามาที่กกต.



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์  สิทธิเกรียงไกร



 

ข่าวทั้งหมด

X