ท่วมท้น! สนช.ผ่านวาระ3ร่างพรบ.รักษาผลประโยชน์ทางทะเลยึดหลักความมั่นคงของชาติ

15 พฤศจิกายน 2561, 15:25น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันนี้ ที่มีนาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม มีวาระสำคัญที่ต้องติดตามคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว และที่ประชุมเตรียมพิจารณาผ่านร่างกฎหมายในวันนี้



ก่อนหน้านี้ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 174 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง



สำหรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จำเป็นต้องร่างขึ้น เพื่อให้มีหน่วยปฏิบัติงานหลักในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างมีเอกภาพ และมีหน่วยงานประสานการปฏิบัติงานในเขตทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่กฎหมายปัจจุบันไม่สามารถบังคับใช้ในเขตทางทะเลที่อยู่นอกประเทศ และไม่ครอบคลุมถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยร่างฯมีทั้งสิ้น 41 มาตรา สาระสำคัญคือ บัญญัติให้มีคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(นปท.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมกรรมการอีก 27 คน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย, ยุทธศาสตร์ และแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลและมาตรการรักษาประโยชน์ของชาติทางทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี



นอกจากนี้กำหนดให้มีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ "ศรชล" โดยให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาและขึ้นตรงต่อนายกฯ พร้อมให้นายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยศูนย์ฯมีหน้าที่วางแผนและสนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมประเมินสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นต้น



ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีพล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นผู้ปรับแก้และเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่ลงมติผ่านร่างฯ พร้อมมั่นใจว่าการมีศรชลจะช่วยให้ประเทศรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลได้อย่างมั่นคง โดยกองทัพเรือจะเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมรับผิดชอบนี้



นอกจากนี้ที่ประชุมยังลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 149 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สนช. เป็นผู้พิจารณาต่อ โดยกำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาพิจารณา 30 วัน

ข่าวทั้งหมด

X