ธปท.เลื่อนบังคับใช้เกณฑ์คุมสินเชื่อบ้านเป็นเม.ย.62 คุมเข้มวางดาวน์บ้านหลังที่3

09 พฤศจิกายน 2561, 17:11น.


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และมีผู้ให้ความเห็นจำนวนมาก  ธปท.ได้สรุปหลักเกณฑ์การกำกับดูแล การวางเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังแรก และราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้วางเงินดาวน์ร้อยละ 5 สำหรับบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ และวางเงินดาวน์ร้อยละ 10 สำหรับคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม



ส่วนผู้ที่ผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป ถ้าผ่อนชำระหลังแรกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะต้องวางเงินดาวน์ หลังที่ 2 ร้อยละ 10 แต่หากผ่อนชำระหลังแรกยังไม่ถึง 3 ปี หรือกู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องวางดาวน์ร้อยละ  20 ส่วนผู้ที่ผ่อนที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไป กรณีผ่อนสัญญาอื่น ๆ ยังไม่หมด ต้องวางเงินดาวน์ร้อยละ 30 ทุกระดับราคา 



สำหรับเกณฑ์นี้จะไม่บังคับใช้กับการกู้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเอง รวมทั้งจะไม่กระทบการรีไฟแนนซ์สำหรับผู้กู้ที่มีภาระผ่อนเพียง 1 หลัง



ส่วนการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยทุกกรณีให้ใช้ราคาประเมินใหม่เพื่อสะท้อนมูลค่าปัจจุบัน ส่วนการนับรวมสินเชื่อ Top-up ในวงเงินที่ขอกู้ จะนับรวมสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทุกประเภทที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกันในวงเงินที่ขอกู้  เช่น สินเชื่อตกแต่งบ้าน แต่จะยกเว้นสินเชื่อที่ใช้ชำระเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้และประกันวินาศภัย และสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนวันที่บังคับใช้จะเริ่มใช้บังคับกับสัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป โดยจะยกเว้นกรณีที่มีสัญญาจะซื้อจะขายก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2561 เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยหรือผ่อนดาวน์อยู่ก่อนแล้ว 





ด้านนายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน  ธปท. กล่าวว่า แต่ละปี มีสินเชื่อปล่อยใหม่ประมาณ 100,000 บัญชี โดยกว่าร้อยละ 90 เป็นการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกและราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลใหม่นี้ โดยมีเพียงร้อยละ 6  ที่เป็นสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไป และราคาเกิน 10 ล้านบาท ส่วนร้อยละ 7 เป็นการกู้สัญญาที่ 2ราคา ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ดังนั้นผลกระทบจึงอยู่ในวงที่จำกัด



สำหรับการปรับปรุงเกณฑ์ครั้งนี้เพื่อดูแลไม่ให้เกิดดีมานด์เทียมหรือการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดวิกฤติของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดทั่วโลก และเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยให้สามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสม

ข่าวทั้งหมด

X