ศ.พึงได้ รพ.ขอนแก่น เน้นแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

18 ตุลาคม 2561, 16:53น.


การป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุมระดับโลก Safety 2018 World Conference on Injury and Prevention ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่น เคยได้รับรางวัล จากสหประชาชาติ (UN) สาขาการเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศในงานบริการสาธารณะ ซึ่งมีการมอบรางวัลที่ประเทศเกาหลี เมื่อปี2014  และยังเป็นโรงพยาบาลนำร่องตั้งแต่ปี 2543 ก่อนจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ ซึ่งสถิติผู้ที่เข้ามารักษาตัว จากเหตุความรุนแรง ที่โรงพยาบาลขอนแก่น มีจำนวนปีละกว่า400คน เฉลี่ยวันละ 1-2คน



แพทย์หญิงจรรยาภรณ์ รัตนโกศล ประธานศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า การทำงานของศูนย์พึ่งได้ จะดูแลผู้ป่วย4กลุ่ม คือ 1.การบาดเจ็บจากความรุนแรงในครอบครัว 2.การตั้งครรภ์ขณะไม่พร้อม 3.การค้าแรงงานเด็ก และ4.ด้านการค้ามนุษย์ สำหรับการบาดเจ็บจากความรุนแรงในครอบครัว จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความซับซ้อน เพราะสาเหตุมักเกิดจากในครอบครัว จึงมีความจำเป็นต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหารุนแรงตามมา ตัวอย่างเช่น ภรรยา แทงสามีเสียชีวิต เพราะถูกกระทำมาบ่อยจนทนไม่ไหว ส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ มีทั้งด้านกฎหมายที่เข้ามาช่วยจัดการผู้กระทำ หรือการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำในด้านอาชีพ การเป็นอยู่ สภาพจิตใจ แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือในสังคมไทยยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยเรื่องนี้ เช่น การหย่าร้าง ทำให้ผู้ถูกกระทำจำนวนมาก ไม่กล้าออกมารักษา รับคำแนะนำที่ถูกต้อง





ปัจจุบันทางศูนย์พึ่งได้ รพ.ขอนแก่น จะเน้นทำงานเชิงรับ หากมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา และเข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัว ก็จะถูกดูแลโดยศูนย์พึ่งได้ ในตอนนี้มีการขยายไปยังส่วนอำเภอ และตำบล ส่วนในเชิงรุกนั้น จะลงพื้นที่ไปในครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรือมีประวัติเคยทำร้ายร่างกายกัน โดยจะมีการให้ข้อมูลแก่ชุมชนให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก ส่วนในเด็กนั้นต้องให้ข้อมูล เพื่อในอนาคตจะไม่กลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ที่จะต้องร่วมกับทางสถานศึกษา พร้อมทั้งมีระบบในการช่วยเหลือ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงสามารถขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 21,844แห่งทั่วประเทศ หรือผู้ที่พบเห็นความรุนแรง ก็แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือ แม้กระทั่งความรุนแรงที่ไม่มีบาดแผล แต่กระทบกระเทือนต่อจิตใจ ก็สามารถรักษาได้



สำหรับเรื่องความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องให้แต่ละหน่วยงานดูแลในบทบาทที่เกี่ยวข้อง เช่น การรักษาพยาบาล ที่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข หรือในด้านของเด็กที่ขึ้นกับสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ปัญหาตอนนี้คือการพัฒนาให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมในทุกระดับ ทุกพื้นที่ และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบข้อมูล หรือการเข้าถึงการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม ไม่เป็นผู้กระทำ หรือถูกกระทำ รู้ถึงสิทธิและกฎหมาย การช่วยเหลืออย่างปลอดภัย การร่วมกันของชุมชนหันมาตระหนักถึงความรุนแรงด้วยการ “ไม่กระทำ ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย” ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น



 



วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผู้สื่อข่าว 

ข่าวทั้งหมด

X