ประธานสนช.ยังไม่เห็นร่างพ.ร.บ.เทียบตำแหน่งข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน เห็นว่าควรทำทุกฝ่าย

18 พฤษภาคม 2561, 15:10น.


กรณีมีข่าวว่าส่วนราชการเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน ที่มีสาระสำคัญคือการบัญญัติให้ทหารยศพลตรีมีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นรายละเอียด และไม่มีใครเคยบอกว่ามีการจัดทำร่างนี้ คิดว่าร่างคงยังไม่เสร็จ จึงยังไม่มีการนำเสนอเข้าสนช. เชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.เทียบตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ทหารเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระต่างๆได้ง่ายขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของบุคคลที่จะได้รับคัดเลือกมานั่งในองค์กรอิสระหลายอย่าง ซึ่งที่ผ่านมามีทหารและตำรวจยศนายพล ตกรอบสรรหาในองค์กรอิสระไปมาก ขณะนี้เหลือการสรรหาบุคคลมานั่งในตำแหน่งองค์กรอิสระแค่ 2 องค์กรเท่านั้น คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีการประชุมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ในวันนี้ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)





ดังนั้น การเขียนเทียบตำแหน่งเพื่อให้ทหารมานั่งในองค์กรอิสระได้คงไม่ใช่เรื่องจริง ในส่วนตัวกำลังสงสัยว่าเขียนเทียบด้วยสาเหตุใด แต่ก็เห็นด้วยที่จะมีการเทียบตำแหน่งข้าราชการทุกตำแหน่ง และหากเทียบจริงก็ควรเทียบให้หมดทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ทหาร ที่เห็นด้วยเพราะการเทียบตำแหน่งจะทำให้รู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ควรได้อย่างเท่าเทียมกัน และยังเป็นธรรมเนียมของสังคมไทยในการนับถือกัน แต่กำลังคิดว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องถึงขั้นทำเป็นร่างพ.ร.บ.ออกมา นายพรเพชร ระบุว่า ในส่วนอธิบดีไม่มีปัญหาเพราะเป็นหัวหน้าส่วนราชการในตำแหน่งอยู่แล้ว แต่ทหารไม่มีตำแหน่งอธิบดี ส่วนตัวยังเคยถามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ในเรื่องการเทียบตำแหน่ง เมื่อครั้งที่มีการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งกรธ.ชี้แจงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและเอกอัครราชทูตก็มีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีเช่นกัน แต่ไม่ได้พูดเปรียบเทียบถึงข้าราชการฝ่ายอื่น  ยอมรับว่าแต่ก่อนเคยมีการเทียบตำแหน่งเช่นนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) แต่เป็นการเทียบกันเพื่อหาสิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนที่ควรได้เท่านั้น ขณะนี้ไม่รู้ว่ายังมีการเทียบเช่นนี้อยู่หรือไม่ พร้อมขอให้รอดูรายละเอียดของร่างก่อนและขอสังคมอย่าวิจารณ์เกินควร ส่วนตัวพร้อมรับคำวิจารณ์และการช่วยกันตรวจสอบ แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่



ส่วนที่ประชุมสนช.ลงมติวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 18 คน ระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน ที่ประชุมยังลงมติให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในคราวเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 179 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง และยังลงมติอนุมัติพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 170 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง ที่ประชุมยังมีมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 171 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งพรก.ทั้งสองที่ผ่านการอนุมัติจะมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป



 



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X