คมนาคมเปิดรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)

19 กุมภาพันธ์ 2561, 12:46น.


การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมสัมมนา พร้อมด้วยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ประชาชน เข้าร่วมประชุมสัมนารับฟังความคิดเห็น 




นายไพรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 หลังจากที่มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการโดยกำหนดรูปแบบทางเลือก 4 แนวทางประกอบด้วย การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) การพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor (โครงข่ายเชื่อมต่อจาก N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงขายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน และรูปแบบการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน โดยจากผลการศึกษาค่อนข้างมีรูปแบบที่ชัดเจนในแบบที่ 4 ซึ่งเป็นการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชนและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน ซึ่งหลังจากนี้กระบวนการจะเป็นไปตามขั้นตอน ลงพื้นที่สำรวจ และสรุปผลการศึกษาอีกครั้งในช่วงประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน 2561




โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นเส้นที่ 11 และถือเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายสุดท้ายที่ได้เตรียมการไว้ หากเสร็จสิ้น แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเริ่มต้นจากแคราย มุ่งหน้าไปทิศตะวันออกตามถนนงามวงศ์วาน จุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชรแยกบางเขน แยกเกษตรไปตามถนนประเสริฐมนูกิจตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา ตัดถนนนวมินทร์ เลี้ยวขวาผ่านแยกโพธิ์แก้วแยกแฮปปี้แลนด ์แยกบางกะปิ และสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง ส่วนระบบทางด่วนจะเป็นการต่อขยายระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ส่วนต่อขยายที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการ 




อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มดำเนินการอาจมีผลกระทบกับแนวรั้วด้านหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล็กน้อย จึงต้องปรึกษาหารือต่อไป โดยหากการเชื่อมต่อกันเสร็จสิ้น ก็หวังว่า ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล  ส่วนของระบบทางด่วนจะเป็นทางด่วนที่สมบูรณ์ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของผู้ใช้รถใช้ถนน 


ขณะที่ภาพรวมของรถไฟฟ้า ทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ หากรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลด้วย จะมีระบบขนส่งมวลชน ทั้งสิ้น 480 กิโลเมตร และหากดำเนินการเสร็จสิ้นครบทุกสาย จะเรียกกรุงเทพมหานคร เป็นมหานครได้อย่างเต็มภาคภูมิ ประชากรก็จะได้รับบริการขนส่งทางรางอย่างเต็มที่


...


ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม 
ข่าวทั้งหมด

X