กรมชลประทานเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 47 จังหวัด

19 กุมภาพันธ์ 2561, 12:13น.


การเตรียมพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งใน 47 จังหวัด 




นาย ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประเมินของกรมชลประทานพบว่าทั่วประเทศมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 47 จังหวัด ครอบคลุม 339 อำเภอมากกว่า 1,500 ตำบล คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 3 ล้าน 8 แสนไร่ โดยทั้ง 47 จังหวัดล้วนอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรู้สถานการณ์จึงมีความเป็นห่วง สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการแก้ไข กรมชลประทานจึงได้ระดมเครื่องสูบน้ำ 2,365 เครื่อง โดยอยู่ตามสำนักงานชลประทานต่างๆ 1,702 เครื่อง และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง 663 เครื่อง พร้อมทั้งระดมรถยนต์บรรทุกน้ำอีก 242 คัน ให้กระจายไปตามพื้นที่เสี่ยงภัย 47 จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในหน้าแล้งนี้อย่างเพียงพอ 


สำหรับพื้นที่ทั้ง 47 จังหวัดนั้นเป็นเพียงการคาดการณ์ของกรมชลประทานว่าเสี่ยงต่อภัยแล้ง เพราะไม่ได้อยู่ในเขตที่ระบบน้ำครอบคลุมไปถึง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีจังหวัดใดที่ต้องติดตามสถานการณ์เป็นพิเศษ แต่ก็ได้ประสานกับทั้ง 47 จังหวัดผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้ประเมินอย่างใกล้ชิด ซึ่งการจะบอกว่าพื้นที่ใดเสี่ยงต่อภัยแล้งต้องประเมินจากปัจจัยหลายๆอย่าง




สำหรับในเขตพื้นที่ชลประทานนั้น มั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงต่อภัยแล้ง เพราะจากสถานการณ์น้ำในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีปริมาณน้ำมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2559 ถึง 2 เท่า หรือมีปริมาณน้ำมากกว่า 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศขณะนี้ มีปริมาณน้ำรวม 53,049 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 75 จากปริมาณน้ำทั้งหมด เพียงพอต่อการใช้น้ำของประชาชนและเกษตรกรในหน้าแล้งอย่างแน่นอน โดยช่วงหน้าแล้งจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 29,505 ล้านลูกบาศก์เมตร และกรมชลประทานได้เตรียมน้ำไว้สำหรับทำนาปีในฤดูทำนาปกติประมาณ 10,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร 


 อย่างไรก็ดีขอให้ประชาชนที่กำลังทำนาปรังอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงนี้ ควรทำนาปรังตามแผนที่ภาครัฐจัดให้ เพื่อให้การจัดสรรน้ำมีประสิทธิภาพ เพราะพบว่าในช่วงนี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการทำนาปรังเกินแผนกว่าร้อยละ 10 หรือมากกว่า 5 ล้านไร่ ซึ่งถ้าไม่ทำตามที่ภาครัฐจัดสรรให้ อาจส่งเกิดผลกระทบตามมาหลายอย่างในช่วงหน้าแล้งได้  ส่วนภาพรวมทั้งหมดของการทำนาปรัง พบว่ามีการทำไปร้อยละ 99 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้มีการทำนาปรัง 8 ล้านไร่เศษ 


โดยวันนี้รองอธิบดีกรมชลประทานได้เป็นประธานปล่อยคาราวานรถเครื่องสูบน้ำและรถยนต์บรรทุกน้ำไปช่วยพื้นที่เสี่ยงประสบภัยแล้งด้วย


...


ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร 
ข่าวทั้งหมด

X