ภาคีป้องกันอุบัติเหตุหนุนรัฐซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว ย้ำจัดซื้ออย่างโปร่งใส คุ้มค่า-ลดอุบัติเหตุ

15 ธันวาคม 2560, 12:21น.


หลังจากประเด็นการตั้งเรื่องจัดซื้อจ้ดจ้างเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา (Speed Gun) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เกิดหยุดชะงักไปนั้นขณะที่การจัดการความเร็วของประเทศไทยยังไม่สำเร็จ ไปตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ปี 2554-2563 การนำเครื่องมือมาช่วยจัดการจึงเป็นหนึ่งในคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลกที่มีต่อประเทศสมาชิก



ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จึงมีการจัดการประชุมในหัวข้อ "Speed Gun สำคัญอย่างไร ทำไมประเทศไทยต้องมี?" 



นพ.วิวัฒน์  ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย กล่าวเริ่ม การพูดคุยเรื่องการจัดการความเร็วบนถนน เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ที่จะส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ปัญหาหลักๆ ที่คนเราเข้าใจคือ เมาแล้วขับ แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับหนึ่ง มาจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการจะจัดซื้อเครื่องมือตรวจจับความเร็ว จึงต้องมีคุณภาพ โปร่งใส ได้ของมีประสิทธิภาพในราคาที่ตรงไปตรงมา เพื่อใช้งานได้อย่างคุ้มค่า แนะต้องมีผู้สังเกตุการณ์จากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดสเปก



ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่า กล้องตรวจจับความเร็วมีหลายประเภท เช่น กล้องตรวจจับความเร็วแบบประจำที่ , กล้องตรวจจับความเร็วแบบเคลื่อนที่ และกล้องตรวจจับแบบวัดเฉลี่ย แต่ละประเภทมีศักยภาพแตกต่างกัน สำหรับกล้องตรวจจับความเร็วแบบเคลื่อนที่ ถ้าเป็นแบบใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ จะสามารถวัดความเร็วได้ในระยะเวลา 0.5วินาที ซึ่งมีความแม่นยำสูงกว่าแบบ Radar Gun โดยมีคำถามว่า.. เมื่อลดความเร็วแล้ว จะมีผลอย่างไร? จึงได้มีการยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่ลงทุนใช้เครื่องตรวจจับความเร็วรูปแบบต่างๆ เพื่อตรวจจับผู้ขับขี่เร็วเกินกำหนด พบว่าจำนวนอุบัติเหตุที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ หรือผู้เสียชีวิตลดลง รวมทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หากประเทศไทยนำมาใช้อย่างจริงจัง คาดว่าจะสามารถบังคับพฤติกรรมผู้ขับขี่ให้ใช้ความเร็วที่เหมาะสม และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะแต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละกว่า 2หมื่นคน



พล.ต.ต.เอกรักษ์  ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล3 กล่าวว่า จากการตรวจจับที่ผ่านมายกตัวอย่าง8จาก10คนที่ถูกจับ มักบอกว่าเกิดจากโชคไม่ดี แต่ไม่โทษตนเองที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือการตรวจจับที่เข้มงวด ทำให้กว่าจะตระหนักรู้เรื่องอุบัติเหตุส่วนมากมักจะต้องประสบกับตนเอง หรือคนใกล้ชิดก่อน ถึงจะเห็นว่าเรื่องอุบัติเหตุเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้องกัน หรือเสียงของครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละกว่า 2หมื่นคนนั้น อาจจะไม่ดังพอให้คนทั้ง 70ล้านคนทั่วประเทศได้ยิน และหันมาขับขี่รถตามกฎหมายจราจร โดยเฉพาะเขตชุมชน หรือโรงเรียน หากรถใช้ความเร็วกว่า 80-90กม./ชม. ผู้ปกครองคงไม่สบายใจ หากลูกหลานตนเองต้องข้ามถนน และสัญจรผ่านไปมาบริเวณนั้น



ด้าน พล.ต.ต.ธีระพล  ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เผยว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุได้กว่า 50% มาจากการเข้มงวดเรื่องการตรวจจับความเร็ว ทั้งด้วยกล้องตรวจจับอัตโนมัติ และกำลังเจ้าหน้าที่ นอกเหนือจากนี้ยังเข้มงวดเรื่องอื่นๆที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น เมาแล้วขับ ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ

นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ย้ำว่าความเร็วยังคงเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น และมักเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อาจเกือบ 100% ของคนใช้รถที่ใช้ความเร็วเกินกว่ากำหนด เน้น 3จังหวัดต้นแบบ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ที่มีการควบคุมความเร็วที่จริงจัง จนสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุได้จริง สำหรับกล้องตรวจจับความเร็ว คิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ประเทศไทยต้องมี โดยกล้องต้องมีคุณภาพ เพื่อสามารถสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งการบำรุงรักษาที่ดี ลดการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน มีการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง มีป้ายเตือนประชาชนก่อนถึงจุดตรวจความเร็ว และที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลที่ต้องใช้กล้องตรวจจับความเร็ว มาจับผู้ฝ่าฝืน เพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด







ผู้สื่อข่าว : วริศรา  ชาญบัณฑิตนันท์

ข่าวทั้งหมด

X