DSI ร่วมมือไต้หวันจับแก็งค์คอลเซนเตอร์ อ้างจนท.รัฐหลอกเงินเหยือกว่า200ล้านบาท

18 ตุลาคม 2560, 11:10น.


การทลายเครือข่ายองค์กรข้ามขาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกเงินเหยื่อประมาณ 100 ราย วงเงินกว่า 200 ล้านบาท พันตำรวจเอกทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า แก๊งดังกล่าว แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทไปรษณีย์ไทย, DSI, กองกำกับการสืบสวนตำรวจภาค 1-9, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผู้ร้องเรียนประมาณ 8,000 คน มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559



สำหรับเครือข่ายดังกล่าวตั้งฐานยู่ในต่างประเทศ โดยคนต่างชาติร่วมมือกับคนไทย นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในโทรศัพท์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ VoIP (Voice Over Internet Protocol) เพื่อให้เกิดความซับซ้อน ยากต่อการติดตาม มีการแสดงหมายเลขโทรศัพท์ขณะรับสายเป็นหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นจะพูดจาโน้มน้าว กดดัน จนเหยื่อหลวงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเครือข่าย หรือบัญชีรับจ้างที่เรียกว่า "บัญชีม้า" และในห้วงเวลาเดียวกันจะมีชาวต่างชาติแฝงตัวมาในฐานะนักท่องเที่ยว ทำการกดเงินออกโดยทันที ที่ผ่านมาจับกุมผู้กระทำความผิดได้เพียงผู้เปิดบัญชี ผู้รับจ้างถอนเงิน และผู้ช่วยเหลือ สนับสนุนรายเล็ก ทั้งคนไทยและต่างชาติ



จากการตรวจสอบ พบว่า โทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผ่านระบบ VoIP จะทำผ่านบริษัท พีเอ็ม เอ็น จำกัด ตั้งอยู่อาคารทศพลแลนด์ 4 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร  ขณะเดียวกันทีมสืบสวนเฝ้าติดตามดูพฤติกรรมคนไทยต้องสงสัย มีข้อมูลเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง จนมีฐานะร่ำรวยผิดสังเกต และพบเบาะแสว่าจะเดินทางไปยังไต้หวัน ระหว่างวันที่ 20-25 กันยายน 2560 ทีมสืบสวนจึงประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ กรมสอบสวนกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน MJIB (The Ministry of Justice Investigation Bureau) จนพบหลักฐานคือบทพูดภาษาไทยที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ โดยคนไทยกลุ่มดังกล่าวอยู่ในความคุ้มครองดูแลของคนไต้หวันที่มีประวัติต้องโทษเกี่ยวกับคดีฉ้อโกง และลักทรัพย์



จากนั้นจึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ  บริษัท พีเอ็ม เอ็น จำกัด เมื่อวันที่ 12 กันยายน  พบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ ของเครือข่ายผู้กระทำผิด มีการเชื่อมโยงจากเครือข่ายจดทะเบียนทั้งในฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ส่วน MJIB เข้าตรวจค้นที่เมืองไทจง และเมืองเหลี่ยวลี่ พบหลักฐานเป็นเอกสารบทพูดที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร ที่แสดงว่าร่วมกระทำผิด และจับกุมคนไทย 18 คน ไต้หวัน 7 คน ซึ่งมีคนไทย 2 คน ที่เป็นผู้ต้องหาหมายจับคดีคอลเซ็นเตอร์ คือ นางธัญวรรณ วงษ์ภักดี และนายณัฐสิทธิ์ สามตะคุ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีธนาคารที่รับโอนเงินจากผู้เสียหาย ชักชวนคนไทยไปทำงานรับโทรศัพท์ที่ไต้หวัน ได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน  ขอย้ำเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อย่าไปมีส่วนร่วมกับผู้กระทำผิด เพื่อหวังเงินค่าจ้างเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะการเปิดบัญชีให้บุคคลอื่น เพราะจะทำให้ถูกดำเนินคดีร่วมด้วย และอย่าร่วมมือกับชาวต่างชาติกระทำผิด

ข่าวทั้งหมด

X