กรมควบคุมมลพิษ ชี้การให้ความช่วยเหลือกรณีตกบ่อบำบัดน้ำเสียต้องมีอุปกรณ์ช่วยเพราะก๊าซมีพิษสูงมาก

24 มิถุนายน 2560, 16:42น.


การเสียชีวิตของนิสิตและพนักงานของบริษัท ซีพีเอฟที่ตกบ่อบำบัดน้ำเสีย รวม 5 ศพ นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษไปตรวจสอบในจุดเกิดเหตุพบว่าฝาท่อเปิดอยู่ และยังเห็นฝาบ่อตะแคงอยู่ในบ่อ การดำเนินคดีต้องมีการสอบสวนต่อไปแม้ว่าบริษัทจะมีการชดเชยเยียวยาให้ผู้เสียชีวิตก็ตาม และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีหน้าที่ดูแลโดยตรงในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย กรณีแบบนี้ในประเทศไทยเกิดขึ้นทุกปี จะพบเห็นในการขุดบ่อน้ำ การหมักขี้หมู คนลงไปช่วยก็เสียชีวิตด้วย การให้ความช่วยเหลือคนที่ตกลงไปในบ่อบำบัด พยายามใช้พัดลมเป่าไล่ก๊าซไข่เน่า ออกไปก่อน แต่อาจจะไม่มีเวลาเพียงพอ เจ้าหน้าที่ที่ลงไปช่วยเหลือต้องมีอุปกรณ์ มีถังอากาศลงไปช่วย ถ้าเกิน 5 นาที มีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต ซึ่งวิธีการป้องกันและการช่วยเหลือมีกฎการประกาศตามที่ได้กำหนดไว้อยู่แล้ว หากเข้าไปภายในพื้นที่ต้องดูความเข้มข้นของก๊าซและประเมินว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ส่วนการลงไปช่วยเหลือกรณีที่เกิดขึ้น มองว่า เป็นนิสัยของคนไทยที่มีจิตเมตตา ซึ่งต่างจากต่างประเทศ มองว่า คนที่ไปช่วยหากไม่มีอุปกรณ์หรือความรู้ ก็จะเสียชีวิตเป็นคนต่อไป ยกเว้นมีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตเท่านั้น   



ส่วนความเข้มข้นของก๊าซภายในบ่อหากฝาปิดอยู่ จะมีความเข้มข้นมาก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระยะเวลาการเสียชีวิตคนแรกไม่ถึง 1 นาที การตรวจสอบความเข้มข้นหลังเกิดเหตุ 15.00 น.พบว่าปริมาณค่าก๊าซแอมโมเนีย อยู่ในระดับ 42 พีพีเอ็ม (ปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ อยู่ที่ 300 พีพีเอ็ม) และก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซไฮโดรเจน ซัลไฟด์ อยู่ที่ระดับ 11 พีพีเอ็ม (ปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้อยู่ที่ 100) แต่ช่วงที่ทั้ง 5 คน เสียชีวิต มีความเข้มข้นของค่าก๊าซแอมโมเนีย และก๊าซไข่เน่า ในระดับสูง เพราะการวัดที่ได้หลังเกิดเหตุนานพอสมควร ทำให้ก๊าซจางลง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงจะมีการประชุมหาแนวทางและหาวิธีป้องกันและมาตรการช่วยเหลือต่อไป  



CR:ศูนย์พิรุณ

ข่าวทั้งหมด

X