รองวิษณุ เผยนายกฯ มีอำนาจสั่งย้ายผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน หากพบผิดจริง ขอรอผลสอบจากมหาดไทย

29 เมษายน 2560, 16:03น.


การโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า การจะตรวจสอบหรือโยกย้าย มี 2 แนวทาง คือ การใช้กฎหมายปกติซึ่งให้อำนาจอยู่แล้ว แต่อาจมีปัญหาในเรื่องของกระบวนการ และความถูกต้องเป็นธรรม ที่อาจซับซ้อนและใช้เวลานาน ก็อาจจะต้องใช้มาตรา 44 แต่ขณะนี้ความจำเป็นที่จะใช้มาตรา 44 ลดลงแล้ว เพราะเคยออกคำสั่งไว้แล้วว่า หากจำเป็นต้องโยกย้ายใคร และไม่สามารถใช้กระบวนการปกติได้ จึงสามารถออกคำสั่งโดยไม่ต้องอ้างถึงมาตรา 44 อีกทั้ง ขณะนี้ มีการโยกย้ายโดยไม่ใช้มาตรา 44 มาแล้วหลายราย ด้วยการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี เช่น กรณีของผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  ทั้งนี้ หากเป็นช่วงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ก็จะเป็นอำนาจของ คสช. แต่ขณะนี้ คสช.มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการได้แล้ว ส่วนกรณีที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ควรจะนำคำสั่งนี้มาใช้หรือไม่ ต้องเริ่มจากต้นสังกัดที่ต้องรายงานความจำเป็นมาที่ส่วนกลาง หากใช้อำนาจปกติไม่ได้ ก็สามารถขอนายกรัฐมนตรี ให้ออกคำสั่งได้ แต่ขอให้รายงานเหตุผลความจำเป็นด้วย แต่เบื้องต้นยังไม่มีรายงานเข้ามา เข้าใจว่า ส่วนหนึ่งเป็นไปตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ว่า รองปลัดกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่า ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในพื้นที่ แล้วทำให้พยานไม่กล้าให้การ หรือหากมั่นใจว่า บุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์จริง ก็อาจขอให้ใช้คำสั่งนี้โยกย้ายได้ แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการขอให้ใช้คำสั่ง จึงยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เชื่อว่า ไม่เกิน 2 วันจะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด



นายวิษณุ ยืนยันถึงอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กับอำนาจของคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องมีอำนาจเหนือกว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพราะคณะรัฐมนตรี สามารถเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ชาติได้ตามขั้นตอน พร้อมยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลชุดใหม่ สามารถเปลี่ยนแปลงบอร์ดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ โดยใช้กระบวนการเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงบอร์ดรัฐวิสาหกิจ



นายวิษณุ กล่าวถึงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ในกรณีที่รัฐบาลชุดใหม่ไม่เห็นด้วยว่า สามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกได้ และหากมีการลงนามไปก่อนหน้านี้ ก็สามารถเจรจากับคู่สัญญาได้ และหากเกิดความเสียหายจากการยกเลิกสัญญาขึ้น ผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาก็จะต้องรับผิดชอบ



นายวิษณุ กล่าวถึงรายงานร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายดังกล่าว สปท. จะพิจารณาก่อนในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ และส่วนตัวไม่ทราบว่ากฎหมายดังกล่าวจะขัดแย้งกับ มาตรา35 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพ โดยไม่ถูกควบคุมหรือไม่ รวมถึงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแล้วให้อำนาจให้หรือถอดใบอนุญาตวิชาชีพสื่อมวลชนได้ มีความเหมาะสมหรือไม่



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X