เมืองไทยฯ (1):เตรียมตั้งคณะกรรมการร่างรธน./ยื่นป.ป.ช.สอบการทำงานสปช./ทำแผนประกอบคำรับสารภาพคดีวางระเบิด

08 กันยายน 2558, 07:30น.


กรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติด้วยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน ภายใน 30 วัน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แล้วเข้าสู่กระบวนการลงประชามติ  โดยจะใช้สูตร 6-4-6-4 คือ ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน จากนั้นเตรียมการทำประชามติ 4 เดือน ถ้าผ่านประชามติจะมีการทำกฎหมายลูกและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ใช้เวลา 6 เดือน กระทั่งใช้เวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีก 4 เดือน รวมแล้วระยะเวลาหลังจากนี้ 20 เดือน



ส่วนการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจำนวน 200 คน หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งสภาขับเคลื่อนฯภายใน 30 วัน หลัง สปช.หมดวาระลงแล้ว จะต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยจะทำงานต่อจากสปช.



และในวันนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี จะมีการพิจารณามาตรการการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ในช่วงระหว่างปี 2556-25557



ส่วนการที่นายสิระ เจนจาคะ อดีต สปช. สายสังคม คืนเงินเดือนสมาชิก สปช. 1 ล้าน 7 แสนบาทให้สภาผู้แทนราษฎรนั้น นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีระเบียบโดยตรงแต่สามารถคืนเงินได้ในรูปของเงินบริจาคให้กับสำนักงาน ถือว่าเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยจะทำเรื่องคืนเงินให้กับกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดเตรียมงบประมาณเพื่อรองรับการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามงบประมาณปกติ ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ สปช.



ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบอดีตสมาชิก สปช. จำนวน 135 คน ที่ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 31 (3) ที่ระบุไว้ว่า สมาชิก สปช.จะต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯจัดทำขึ้น แต่เมื่อ สปช.ทั้ง 135 คน ลงมติไม่เห็นด้วย เห็นว่าเป็นการจงใจหรือเจตนาทำลายกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเวลาหลายเดือนที่ สปช.จะเสนอความคิดเห็นให้ กมธ.ยกร่างฯ นำไปเป็นประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ แต่กลับมาใช้อำนาจมาลงมติไม่เห็นชอบ ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่



ส่วนเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ และท่าน้ำสาทร เมื่อค่ำวันที่ 17 และ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจับกุมนายบิลา มูฮัมหมัด หรือนายอาเดม การาดัค ชาวตุรกีและนายมิราลลี่ ยูสูฟู หรือนายเมียไรลี ยูซูฟู ชาวจีน จากนั้นมีการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งคนไทยและต่างชาติแล้วหลายคน และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่า จะมีหมายจับเพิ่มอีก 2-3 คน



โดยเมื่อวานนี้ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมายส่วนรักษาความสงบ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเจ้าหน้าที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) ควบคุมตัวนายยูซูฟู มาให้ส่งพนักงานสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อสอบปากคำและแจ้งข้อหา โดยมี พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. และคณะพนักงานสอบสวนสอบปากคำร่วมสอบปากคำ และให้แพทย์ รพ.ตร.ตรวจร่างกายเพื่อเป็นพยานและหลักฐานว่า ระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา



ด้าน พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 กล่าวแจ้งว่า ให้บันทึกภาพและถ่ายภาพได้เพียงอย่างเดียว ห้ามสอบถามหรือสัมภาษณ์ผู้ต้องหา เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคงอาจจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ



ทั้งนี้ นายเมียไรลียอมรับเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ และรับสารภาพกระทำผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งเคยเห็นชายเสื้อเหลืองมือวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม ย่านราชประสงค์ และชายเสื้อฟ้าคนนำระเบิดไปทิ้งบริเวณท่าน้ำสาทร เพราะทั้งคู่เคยมาที่ พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ ย่านหนองจอก แต่ไม่รู้จักชื่อของชายทั้งคู่ นอกจากนี้ยังยอมรับด้วยว่า เป็นผู้นำกระเป๋าเป้ใส่ระเบิดไปให้ชายเสื้อเหลืองที่ลงจากรถแท็กซี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ก่อนมือวางระเบิดจะนั่งรถตุ๊กตุ๊กเอาระเบิดไปวางที่เป้าหมายที่ศาลพระพรหม



โดยเหตุที่ยอมรับสารภาพ เพราะไม่ต้องการถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่จีน และในวันนี้พนักงานสอบสวนจะคุมตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพเบื้องต้น 4 จุด โดยจุดแรกเป็นที่พักพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ ย่านหนองจอก จุดที่ 2 ไมมูณา การ์เด้นโฮม ย่านมีนบุรี จุดที่ 3 จุดนำเป้ระเบิดมาส่งชายเสื้อเหลืองมือวางระเบิดหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง และจุดที่ 4 จุดถ่ายรูปที่ลานน้ำพุหลังเกิดเหตุระเบิดและส่งรูปผลงานให้กับเพื่อนร่วมขบวนการ จากนั้นจะนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดมีนบุรี



สำหรับการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 2 คนเป็นคนที่ 10 และ 11 คือนายอับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์มาน ไม่ทราบสัญชาติ อีกรายเป็นผู้ต้องหาตามภาพถ่าย เป็นชายชาวต่างชาติไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบสัญชาติ ซึ่งเป็นภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดภายในห้างแห่งหนึ่ง ที่ผู้ต้องหาเข้าไปใช้ซื้อสินค้า



ด้านพล.ต.ท.ประวุฒิ เปิดเผยว่า กรณี น.ส.วรรณา สวนสัน หรือไมซาเลาะห์ ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ ขาดการติดต่อ 4 วันแล้ว อาจจะต้องประสานกับตำรวจสากล และดูว่ามีสนธิสัญญาระหว่างตุรกีหรือไม่ในการส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดน ส่วนการที่ น.ส.วรรณายืนยันว่า อยู่ประเทศตุรกีนั้น ได้ประสานไปทางสถานทูตไทยประจำประเทศตุรกีแล้ว และรับแจ้งว่ายังไม่ได้รับการติดต่อจาก น.ส.วรรณาเช่นกัน



ยังมีเรื่องของการเตรียมยึดพื้นที่ป่าโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ม.3 ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งพบการบุกรุกพื้นที่มากกว่า 400 ไร่ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และเจ้าของที่ดิน 21 รายรวม 27 แปลง เตรียมยื่นค้าน โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่อยู่นอกเขตโครงการฟื้นฟูฯ  อย่างไรก็ตาม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล ยืนยันว่า พื้นที่นี้อยู่ในเขตโครงการฟื้นฟูฯ และอยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล ร่วมกับหน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ กบ.9



*-*

ข่าวทั้งหมด

X